แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าสืบมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารก็ตาม แต่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายหากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่เพียงพอรับฟังตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งเป็นดุลพินิจในทางรับฟังพยานหลักฐานศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคหนึ่งปรากฏว่าข้อเท็จจริงในคดีฟังได้เพียงว่า เมื่อวันที่20 มกราคม 2529 ส.เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเขตบางกะปิเป็นผู้ลงรับหนังสือด่วนมากฉบับวันที่ 14 มกราคม 2529แทนจำเลย และอ้างว่าได้มอบหนังสือดังกล่าวให้จำเลยไปเท่านั้นประกอบกับในช่วงเกิดเหตุอยู่ระหว่างโยกย้ายที่ทำการสรรพากรเขตบางกะปิ มีงานยุ่งและเอกสารต่าง ๆ มีจำนวนมากทั้งขณะมีการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งนั้น หนังสือด่วนมากฉบับดังกล่าวยังค้นหาไม่พบ และการที่มิได้เวียนหนังสือดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไปก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำผิดหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพิกเฉยละเลยไม่นำหนังสือและประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตรวจสอบหนี้ภาษีอากรของบริษัท ห. เพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการทำหน้าที่เจ้าหน้าที่สารบรรณและเร่งรัดภาษีอากรค้างของงานเร่งรัดอากรค้าง ประจำสำนักงานสรรพากรเขตบางกะปิ มีหน้าที่รับหนังสือราชการทั่วไป และนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในงานนั้นและรับผิดชอบงานอื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 จำเลยได้กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังกล่าวคือ จำเลยได้รับหนังสือสำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานครด่วนมาก ที่ กท 06 (กอ.)/1093 ลงวันที่ 14 มกราคม 2529ซึ่งได้ส่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 8 มกราคม 2529 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.393/2528 ของศาลแพ่ง ระหว่าง นางสาวสุรีย์ ช่างปั้นโจทก์ บริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด จำเลยซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด แจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่ง คือภายในวันที่ 7 มีนาคม 2529 จำเลยต้องนำหนังสือและประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นไปเสนอต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อตรวจสอบหนี้ภาษีอากรของบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด ว่ามีหนี้ภาษีอากรค้างชำระอยู่หรือไม่ ถ้ามีจะได้แจ้งให้สำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานครดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อไป แต่จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยเพิกเฉยละเลยไม่นำหนังสือสำนักงานสรรพากรกรุงเทพมหานครดังกล่าวเสนอเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ทราบว่าบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด ถูกนางสาวสุรีย์ฟ้องให้ล้มละลาย โจทก์จึงไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ภาษีอากรต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเฉลี่ยหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรม จำกัด มีหนี้ภาษีค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 578,662.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน578,662.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าสืบมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารก็ตามแต่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่เพียงพอรับฟังตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งเป็นดุลพินิจในทางรับฟังพยานหลักฐาน ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529นางสุมาลี วิบูลสมัย เจ้าหน้าที่สรรพากร 3 สำนักงานสรรพากรเขตบางกะปิเป็นผู้ลงรับหนังสือด่วนมากที่ กท 06(กอ.)/1093ลงวันที่ 14 มกราคม 2529 แทนจำเลย และอ้างว่าได้มอบหนังสือดังกล่าวให้จำเลยไปเท่านั้น ประกอบกับในช่วงเกิดเหตุอยู่ในระหว่างโยกย้ายที่ทำการสรรพากรเขตบางกะปิ มีงานยุ่งและเอกสารต่าง ๆ มีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้ความว่า ขณะมีการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งนั้น หนังสือด่วนมากที่ กท 06(กอ.)/1093 ลงวันที่ 14 มกราคม 2529 ค้นหาไม่พบและการที่มิได้เวียนหนังสือดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไปก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยหรือไม่พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพิกเฉยละเลยไม่นำหนังสือและประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตรวจสอบหนี้ภาษีอากรของบริษัทแหลมทองการเกษตรและอุตสาหกรรมจำกัด เพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน