คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงการมีไว้ขายด้วย การขายหรือมีไว้เพื่อขายจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน ผู้ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อขายแล้วได้ขายไปบางส่วนคงมีความผิดฐานขายเพียงสถานเดียว แต่ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยนให้เท่านั้น มิได้บัญญัติให้หมายความรวมถึงการมีไว้ใน ครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย การมียาเสพติดไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหากจากกันได้ แม้เมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดจำนวน 4 เม็ดที่จำเลยมอบให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายไปในเวลาที่ต่อเนื่องกัน แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็มีเจตนาแยกต่างหากจากกันตั้งแต่จำเลยจำหน่ายแล้ว การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดสองกรรม หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 60 เม็ด น้ำหนักรวม 5.40 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำนวน4 เม็ด น้ำหนักรวม 0.36 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อราคา 400 บาทเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน4 ฉบับ ซึ่งเป็นธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายจำนวน 56 เม็ด และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้ออีกจำนวน 4 เม็ด เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรจำนวน 400 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปีฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปีริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 400 บาทที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจำนวน 4 เม็ด ราคาเม็ดละ 100 บาท และหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจได้รับเมทแอมเฟตามีนจากสายลับจำนวน 4 เม็ดแล้วเจ้าพนักงานตำรวจยังยึดเมทแอมเฟตามีนได้จากจำเลยอีก 56 เม็ด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขายด้วย การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน ผู้ที่มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อขายแล้วได้ขายไปบางส่วนคงมีความผิดฐานขายเพียงสถานเดียวเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่16 ตุลาคม 2539 การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไป แต่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความว่า ขายจ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้เท่านั้น มิได้บัญญัติให้หมายความรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ทั้งการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหากจากกันได้แม้เมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ที่จำเลยมอบให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 60 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยได้จำหน่ายไปในเวลาที่ต่อเนื่องกัน แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็มีเจตนาแยกต่างหากจากกันตั้งแต่จำเลยจำหน่ายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรมหาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวดังจำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share