แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยนำบัตร เอ.ที.เอ็ม.ไปกดถอนเงินจากบัญชีของ น. จะอาศัยเพียงว่าการที่จำเลยเป็นเจ้าของบัตรจึงสันนิษฐานว่าจำเลยนำบัตรไปกดถอนเงินไม่ได้ เพราะผู้ที่ได้บัตรนั้นไปและรู้เลขรหัสก็สามารถนำบัตรไปกดถอนเงินได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของบัตร พยานโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ห้ามฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334, 335, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 150,500 บาทแก้ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 วรรคแรก เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดกระทงแรกตามมาตรา 334จำคุก 2 ปี ความผิดกระทงที่ 2 ถึง 4 ตามมาตรา 335 วรรคแรกจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน150,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกกระทงแรก 1 ปีส่วนกระทงที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยเข้ามอบตัวต่อสู้คดี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสียหายหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือไม่ได้ความว่าจำเลยฝากใส่ชื่อจำเลยไว้ในทะเบียนบ้านของนางสาวนันทพรอยู่เย็น แต่พักอาศัยอยู่คนละบ้าน จำเลยเป็นลูกค้าทำผมที่ร้านเสริมสวยของนางสาวนันทพร จำเลยกับนางสาวนันทพรไปขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารผู้เสียหายในวันเดียวกัน โดยวิธีการใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงิน ธนาคารผู้เสียหายออกบัตรเอทีเอ็มให้แก่จำเลยแต่ระบุหมายเลขบัญชีผิดพลาดเป็นบัญชีของนางสาวนันทพร ซึ่งถ้าจำเลยนำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงินก็จะเป็นการถอนเงินจากบัญชีของนางสาวนันทพร ได้ความจากคำเบิกความของนายสนอง พิณรัตน์และนายสุรพล เย็นศรี พนักงานธนาคารผู้เสียหายประกอบรายการถอนเงินเอกสารหมาย จ.7 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.15 ว่า ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุมีผู้นำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงินจากบัญชีของนางสาวนันทพร ซึ่งผู้ที่นำบัตรเอทีเอ็มไปใช้ได้จะต้องเป็นผู้ครอบครองบัตรและต้องรู้ตัวเลขรหัสที่จะกดถอนเงินด้วยตัวเลขรหัสนี้เป็นความลับรู้เฉพาะจำเลยผู้เป็นเจ้าของบัตรนายสนอง พิณรัตน์ พยานโจทก์เบิกความว่า เหตุนี้จึงน่าเชื่อว่าจำเลยนำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงิน แต่นายสุรพล เย็นศรีพนักงานธนาคารผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้ไม่ใช่เจ้าของบัตรหากได้บัตรเอทีเอ็มและรู้เลขรหัสก็สามารถที่จะนำบัตรไปกดถอนเงินได้เช่นเดียวกัน เห็นได้ว่าผู้ที่นำบัตรไปกดถอนเงินไม่จำเป็นจะต้องเป็นจำเลยเสนอไป บุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดจำเลยก็อาจนำบัตรดังกล่าวไปกดถอนเงินได้ โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงิน จำเลยเบิกความว่าจำเลยเคยนำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงิน แต่เครื่องขัดข้องได้เงินมาเพียง 100 บาท หลังจากนั้นบัตรเอทีเอ็มของจำเลยได้หายไปพร้อมเลขรหัสซึ่งเก็บไว้ในซองเดียวกัน ได้ความว่าร้านของจำเลยเปิดเป็นคาเฟ่ขายอาหารและมีนักร้อง ซึ่งน่าจะมีคนเข้าออกจำนวนมาก ประกอบกับมีเงินฝากในบัญชีจำนวนน้อยเพียง1,900 บาท หากจำเลยไม่ได้สนใจเก็บบัตรไว้ในที่ปลอดภัยอาจสูญหายได้นางสาวนันทพรพยานโจทก์เบิกความว่า พยานเคยใช้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มาก่อน และเคยทำบัตรหายพร้อมกับเลขรหัสซึ่งใส่ไว้ในซองเดียวกัน เป็นเหตุให้ในครั้งนั้นเงินในบัญชีของพยานหายไป 20,000 บท ดังนี้ เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นการสูญหายและผลที่เกิดขึ้น ในกรณีของจำเลยก็อาจสูญหายได้เช่นเดียวกันเมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยนำบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงินจากบัญชีของนางสาวนันทพรเช่นนี้แล้ว จะอาศัยแต่เพียงว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัตรจึงสันนิษฐานว่าจำเลยนำบัตรไปกดถอนเงินดังคำเบิกความของนายสนองพยานโจทก์นั้นอาจผิดพลาดได้ เพราะผู้ที่ได้บัตรนั้นไปและรู้เลขรหัสก็สามารถนำบัตรนั้นไปกดถอนเงินได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นจำเลย นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินฝากของนางสาวนันทพรเอกสารหมาย จ.8 ว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2537 นางสาวนันทพรนำเงินฝากเข้าบัญชี 140,000 บาท รวมกับที่มีอยู่เดิมเป็นเงิน150,740.35 บาท ครั้นวันรุ่งขึ้นก็มีผู้นำบัตรเอทีเอ็มของจำเลยไปกดถอนเงินจากบัญชี 4 วัน ติดต่อกัน โดยเครื่องเอทีเอ็มกำหนดให้ถอนได้ไม่เกินวันละ 40,000 บาท จนมีเงินเหลือในบัญชี 240.35 บาทซึ่งผู้ที่นำบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงินน่าจะต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงการนำเงินเข้าฝาก จึงสามารถนำบัตรเอทีเอ็มไปกดถอนเงินได้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ถึงการที่นางสาวนันทพรนำเงินฝากเข้าบัญชี ดังนี้ พยานโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัย ไม่ชัดแจ้งพอที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ แม้ปัญหานี้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกา แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185, 215, 225คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า เงินเป็นของนางสาวนันทพร ธนาคารไม่ใช่เจ้าของเงินไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ และเมื่อนางสาวนันทพรไม่ได้ร้องทุกข์พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่เป็นสาระแก่คดีเพราะความผิดฐานลักทรัพย์ในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินแม้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์