คำสั่งคำร้องที่ 2820/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามเห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2 และข้อ 3 จำเลยมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงว่า โจทก์ มิได้หยุดงานเพื่อ ดูแลบุตรที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่จำเลยโต้แย้งว่า การที่โจทก์ลาหยุดงานไปนั้นเป็นการละทิ้งหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันสมควรดังที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัย ปัญหาที่ว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เพื่อไปดูแลบุตรที่ป่วย เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่นั้นเป็นปัญหา ข้อกฎหมาย และอุทธรณ์ข้อ 3(3) ในประเด็นที่ว่า การที่โจทก์ ลากิจไปโดยไม่มีกำหนดโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบว่าจะมาทำงานได้เมื่อใดหลังจากที่ได้ละทิ้งหน้าที่ไปเป็นเวลาถึง 30 วันกรณีจึงถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นกัน โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามไว้พิจารณาต่อไปด้วย หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 74) ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 150,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป จนกว่าชำระต้นเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 100,000 บาทกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,999.98 บาทรวม 104,999.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 104,999.98 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538เป็นต้นไปจนกว่าชำระต้นเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับ อุทธรณ์ดังกล่าว (อันดับ 59) จำเลยทั้งสามจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 66)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ มีใจความสรุปได้ว่า การที่โจทก์ลาไปดูแลบุตรซึ่งนอนรักษาตัว อยู่ที่โรงพยาบาล โดยลาไม่มีกำหนดเวลา และเมื่อยื่นใบลาแล้วก็หยุดงานไปทันทีโดยไม่รอฟังจำเลยที่ 1 ว่าจะอนุมัติหรือไม่ และโจทก์หยุดงานไปกว่า 3 วัน ตามข้อเท็จจริงที่ ศาลแรงงานกลางฟังมา ถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ได้ และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงิน ค่าชดเชยและค่าเสียหายนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายซึ่งอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการต่อไป

Share