คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7496/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 26บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า “เมื่อได้รับคำขอตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23หรือมาตรา 24 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ” ในวรรคสองว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อาจออกใบอนุญาตหรือยังไม่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ขยายเวลาไปได้อีกไม่เกินสองคราว คราวละไม่เกินสี่สิบห้าวันแต่ต้องมีหนังสือแจ้งการขยายเวลาและเหตุจำเป็นแต่ละคราวให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบก่อนสิ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือตามที่ได้ขยายไว้นั้น แล้วแต่กรณี” และในวรรคสามว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบโดยมิชักช้า” และในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มาตรา 27 บัญญัติในวรรคหนึ่งว่า”ในการตรวจพิจารณาคำขอตามมาตรา 26 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลนรายการประกอบแบบแปลนหรือรายการคำนวณที่ได้ยื่นไว้ เพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และให้นำมาตรา 26 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และในวรรคสองว่า “ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผัง บริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนหรือรายการคำนวณตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาและออกใบอนุญาตภายในสามสิบวัน แต่ถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญผิดจากคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนี้ให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขอใหม่และให้ดำเนินการตามมาตรา 26 ต่อไป” กำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเด็ดขาดเมื่อผู้ขอใบอนุญาตเสนอแบบแปลน แผนผังบริเวณ รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 และข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 แล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องออกใบอนุญาตหรือมีคำสั่งไม่อนุญาตและแจ้งคำสั่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบโดยตรงไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 26 และมิอาจอ้างเหตุอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 มาเป็นเหตุไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำขอได้ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มิได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำขอของโจทก์ที่ขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจนพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 26 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวแม้ข้ออ้างในการที่จะไม่มีคำสั่งตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้จะเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์สาธารณะตามอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งของจำเลยที่ 1ดังที่นำสืบมาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอ้างผลประโยชน์สาธารณะทำให้โจทก์ต้องรับภาระนั้นแต่ผู้เดียวได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ความเสียหายจากการที่โจทก์มิได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของตนตามบทกฎหมายและกฎข้อบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นตามส่วนที่ควรจะเป็น จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 ในฐานะดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ในการสั่งการวินิจฉัย ที่จำเลยที่ 2 มิได้มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำขอของโจทก์ตามอำนาจหน้าที่จนพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายก็เพราะจำเลยที่ 2 คำนึงถึงนโยบายของจำเลยที่ 1 และรัฐบาลที่จะอนุรักษ์บริเวณที่โจทก์ขอใบอนุญาตก่อสร้างไว้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งโจทก์ การสั่งการวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ในพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมอยู่ภายในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2จึงได้รับการยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์
ค่าเสียหายเป็นค่ามัดจำที่ดินที่โจทก์จะซื้อเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง โจทก์ไม่ได้ซื้อจึงถูกริบมัดจำเป็นค่าเสียหายพิเศษ จำเลยไม่ทราบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนี้มาก่อนทั้งโจทก์ไม่เคยแจ้งเตือนจำเลยมาก่อน เป็นค่าเสียหายไกลกว่าเหตุ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าออกแบบ ค่าคำนวณการก่อสร้าง เมื่อโจทก์จะก่อสร้างอาคารตามที่ขออนุญาตโจทก์ต้องยื่นแบบแปลนรายการคำนวณและผังแบบแปลนตามกฎหมาย ค่าใช้จ่ายของโจทก์ส่วนนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจ้าง ศาลกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร ค่าศึกษาโครงการ แม้โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างศึกษาโครงการแล้ว แต่การศึกษาโครงการ โจทก์จะตัดสินใจดำเนินการหรือไม่อยู่ที่ว่าโครงการนั้นคุ้มค่าลงทุนหรือไม่ หากไม่คุ้มค่าลงทุนโจทก์ก็ต้องงดโครงการ และย่อมต้องเสียค่าศึกษาโครงการอยู่ดี ค่าศึกษาโครงการจึงเป็นค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุส่วนค่าเสียโอกาสและเวลา ค่าเสียหายส่วนนี้ยังไม่มีความแน่นอนโครงการของโจทก์หากได้รับอนุญาตแล้ว กิจการของโจทก์อาจไม่ประสบความสำเร็จและประสบการขาดทุนก็ได้ การที่โจทก์ไม่ได้ก่อสร้างอาคารตามโครงการจึงจะถือว่าเป็นการเสียโอกาสและเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้ไม่ได้

Share