แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีภรรยาจดทะเบียนหย่ากันและทำหนังสือกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตรไว้ ณ อำเภอ ข้อตกลงเกี่ยวกับบุตรเขียนไว้ในบันทึกว่า บุตร 4 คน อยู่ในความอุปการะของภรรยา ดังนี้ สามีชอบที่จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างตามคำให้การของตนได้ว่า คำว่าอุปการะ ที่เขียนไว้นั้น ตนคัดค้านแล้ว ปลัดอำเภอผู้เขียนชี้แจงว่าไม่ใช่อำนาจปกครองอยู่แก่ภรรยา เป็นแต่ให้ภรรยาช่วยอุปการะในฐานเป็นมารดาเท่านั้นนั้น ตนจึงได้ยินยอม รวมทั้งพฤติการณ์ที่แสดงความหมายแห่งข้อตกลงซึ่งสามียกขึ้นต่อสู้ไว้ว่า เป็นแต่ตกลงให้ภรรยาช่วยอุปการะเลี้ยงดูบุตรเท่านั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงอย่าขาดจากกันโดยจดทะเบียนหย่า และทำหนังสือกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตรไว้ที่อำเภอ ให้บุตร ๔ คนนี้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยได้ขอรับบุตร ๔ คน ไปอยู่กับจำเลยชั่วคราว โจทก์ก็ยินยอม ภายหลังโจทก์ขอรับบุตรคืน จำเลยไม่ยอมให้ ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเอาบุตร ๔ คนนี้ไว้ได้ตามข้อตกลง โจทก์ลอบไปรับบุตรมาอยู่กับโจทก์แล้ว ๓ คน เหลือแต่เด็กหญิงอุษา ขอให้บังคับจำเลยส่งให้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ได้หย่ากันและตกลงแบ่งทรัพย์สินกันจริง แต่บุตรทั้ง ๔ คนนั้น ไม่ได้ตกลงให้อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ เป็นแต่ตกลงให้โจทก์ช่วยอุปการะเลี้ยงดูตามหน้าที่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๖ เท่านั้น เมื่อปลัดอำเภอเขียนบันทึกว่าบุตรทั้ง ๔ คน อยู่ในความอุปการะของนางสังวาลย์ จำเลยได้คัดค้านแล้วปลัดอำเภอชี้แจงว่า ไม่ใช่อำนาจปกครองอยู่แก่โจทก์ เป็นแต่ให้โจทก์ช่วยอุปการะในฐานเป็นมารดาเท่านั้น จำเลยจึงยินยอม จำเลยยังถือว่าอำนาจปกครองเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ในวัดนัดพร้อม จำเลยแถลงจะขอสืบถึงเจตนาในบันทึกของอำเภอ แต่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า ข้อความในบันทึกนี้ได้ความชัดเจนแล้วว่า โจทก์อำเภอตกลงให้บุตรทั้ง ๔ คนอยู่ในความอุปการะของโจทก์ ซึ่งหมายความถึงอำนาจปกครองบุตรนั่นเอง จำเลยไม่มีอำนาจปกครอง จะขอนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยส่งเด็กหญิงอุษาแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของคู่ความในข้อเจตนาของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกข้อตกลงในการปกครองบุตรมิได้ใช้คำว่า ปกครอง แต่ใช้คำว่าอุปการะ จะมีความหมายให้อำนาจปกครองอยู่แก่โจทก์หรือไม่ เป็นการตีความหมายของเอกสาร จำเลยกล่าวอ้างไว้แล้วว่า คำว่าอุปการะ ที่เขียนนั้น จำเลยคัดค้านแล้ว ปลัดอำเภอชี้แจงว่าไม่ใช่อำนาจปกครองอยู่แก่โจทก์ เป็นแต่ให้โจทก์ช่วยอุปการะในฐานเป็นมารดาเท่านั้น จำเลยจึงได้ยินยอม จำเลยชอบที่จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างนี้ รวมทั้งพฤติการณ์ที่แสดงความหมายแห่งข้อตกลงซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้นี้ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ พิพากษายืน