คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบอำาจจากผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียให้เป็นผู้ชำระบัญชีและนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ที่เป็นหุ้นส่วนได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมให้ฟ้องลูกหนี้ซึ่งต้องรับผิดต่อกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนซึ่งมีหนี้โดยเฉพาะตัวได้
(2) เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเลิกกัน ผู้ถือหุ้นแต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งและจะให้มีการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันตามหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341, 342 โจทก์ก็ยังไม่ได้ทำบัญชีงบดุลอย่างใด และโจทก์ยังแสดงไม่ได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 37/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัทสหการแพทย์ แต่ไม่บรรลุผลคงดำเนินกิจการต่อมาในนามของสหการแพทย์สถาน แล้วศาลฎีกาได้พิพากษาว่า กิจการนั้นเป็นกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญตามสำนวนคดีแดงที่ ๑๔๐๒/๒๔๙๒ ต่อมาผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตกลงเลิกกิจการ และตั้ง ม.ร.ว. ทองแท่งเป็นผู้ชำระบัญชี แต่ได้ลาออกไปจึงตั้งนายมาลาแทน ปรากฏจากการชำระบัญชีว่าจำเลยเบิกเงินหรือยืมเงินของห้างหุ้นส่วนไป ๕๓๔,๓๘๕.๑๕ บาท นายมาลาจึงฟ้องเรียกคืน ศาลฎีกาพิจารณายกฟ้อง เพราะไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด และนายมาลาจะเป็นผู้ชำระบัญชีไม่ได้ ต่อมาหุ้นส่วนทุกคนได้ประชุมลงมติตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีและมอบอำนาจให้ทวงหนี้และฟ้องคดี จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การรับบางข้อ ปฏิเสธบางประการ แล้วฟ้องแย้งหลายประการ
ศาลแพ่งไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
เมื่อศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาแล้วก็นัดชี้แล้วนัดพร้อม และสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง อ้างว่าไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกให้ดำเนินการพิจารณาและพิพากษาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญมิได้จดทะเบียน ได้ตั้งผู้ชำระบัญชีมอบอำนาจให้นำคดีขึ้นสู่ศาลได้นั้น ก็เหมือนกับเจ้าของรวมมอบอำนาจฟ้องร้องว่ากล่าวเอากับลูกหนี้ซึ่งจะต้องรับผิดต่อทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวมนั้น ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจย่อมใช้สิทธิของเจ้าของรวมเรียกร้องเอาจากเจ้าของรวมแต่ละคนซึ่งมีหนี้โดยเฉพาะตัวได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย
ปัญหาต่อไปที่ว่าจำเลยได้เป็นลูกหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญนี้หรือไม่ นั้น ก็ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกหรือยืมเงินของห้างหุ้นส่วนสามัญไป จำเลยต่อสู้ว่า เงินนี้เป็นเงินกำไรส่วนของจำเลย เมื่อเลิกแล้วยังมีกำไร ๑ ล้านบาท จำเลยมีส่วนได้อยู่ไม่น้อยกว่า ๗ แสนบาท ในรายงานพิจารณาของศาลแพ่งปรากฏว่า โจทก์ยังไม่สามารถที่จะแถลงยืนยันว่าขณะนี้ ห้างหุ้นส่วนรายนี้ไม่มีเจ้าหนี้ใช่หรือไม่ และเมื่อเลิกห้าง ห้างมีกำไรประมาณหนึ่งล้านบาท พฤติการณ์แห่งคดีโจทก์เป็นดังนี้ เห็นว่าขณะฟ้องจำเลยนี้ โจทก์ยังยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยได้เป็นลูกหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๑ วรรคแรกได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าที่จำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้” ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน
ผู้ถือหุ้นแต่ละคนต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามส่วนแห่งจำนวนที่ตนถือหุ้นอยู่ ส่วนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับแบ่งจากห้างหุ้นส่วนและหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกก็มีวัตถุเป็นเงินอย่างเดียวกัน และมาตรา ๓๔๒ วรรคแรก ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้จะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่” และในวรรคสองก็ได้บัญญัติไว้ว่า “การแสดงเจตาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านว่ามีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก”
ตามฟ้อง คำให้การจำเลยและคำแถลงของคู่ความดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยก็มีสิทธิอยู่ในเงินจำนวนหนึ่ง อันเป็นส่วนของจำเลยตามจำนวนหุ้น จากการแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนที่เลิกกันนั้น หนี้ที่โจทก์อ้างว่าเบิกไปจากห้างหุ้นส่วนก็เป็นการกระทำในกิจการของห้างหุ้นส่วน คือการที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายกำไรไปให้แก่หุ้นส่วนโดยยังไม่ได้คิดบัญชีกัน คดีนี้จำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ของจำเลยที่มีอยู่ตามกฎหมายดังได้กล่าวมา เมื่อได้มีการเลิกห้างหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏได้ว่าทำบัญชีงบดุลขึ้นแต่อย่างใด
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ ประกอบกับคำให้การและถ้อยแถลงในคดี โจทก์ยังแสดงไม่ได้ว่าจำเลยได้เป็นลูกหนี้ของห้างหุ้นส่วนนี้ โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีขึ้นฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีขึ้นฟ้องใหม่เมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเมื่อหักกลบลบหนี้แล้วจำเลยยังเป็นหนี้อยู่ ฯลฯ

Share