คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8365/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 391 และมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา369 กล่าวคือให้นำมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ ดังนี้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ได้ เมื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดตามที่เห็นสมควรได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142
การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ไปแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ดังกล่าวออกให้เช่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาตามข้อ 7 ข้างต้น หรือเจ้าของบอกเลิกสัญญานี้และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ตามข้อ 5 ของสัญญานี้ เงินทั้งปวงที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่เจ้าของก่อนหน้านั้นให้คงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ และผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าซ่อมรถยนต์พร้อมทั้งค่าอุปกรณ์และอะไหล่ทั้งปวงเพื่อซ่อมรถยนต์ให้กลับคืนสู่สภาพดีตามที่เจ้าของประมาณราคาขึ้นโดยทันที และจะชดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเสียหายนอกเหนือจากค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ค้างชำระอยู่แล้ว ตลอดทั้งเงินจำนวนอื่นใดที่จะต้องจ่ายตามสัญญานี้ กับถ้าหากในขณะบอกเลิกการเช่านั้น ผู้เช่าได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อและรวมกับเงินชำระครั้งแรกรวมกันไม่ถึงครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา ผู้เช่าซื้อจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่จ่ายเป็นค่าเช่าซื้อรวมทั้งเงินที่ชำระครั้งแรกแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาเช่าซื้อที่ระบุในบัญชีรายการท้ายสัญญา…” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ใช้บังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ และในกรณีฟ้องเรียกราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 190/30มิใช่อายุความหกเดือนตาม ป.พ.พ.มาตรา 563

Share