แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสองนั้น จะต้องกล่าวถึงเหตุที่ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียดชัดแจ้งทั้งสองประการ แต่คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยกล่าวแต่เพียงเหตุที่จำเลยขาดนัด ไม่ได้กล่าวคัดค้านถึงเนื้อหาแห่งคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไรบ้าง แม้จำเลยจะอ้างว่า โจทก์มิได้นำ อ. กรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ แทนโจทก์มาเบิกความ คงมีแต่ บ. ผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อซึ่งมิใช่พนักงานบัญชีเพียงผู้เดียวมาเบิกความ ทั้งมิได้นำเจ้าหน้าที่มาเบิกความรับรองถึงความถูกต้องแท้จริงของหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ จึงฟังไม่ได้ว่า อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และเป็นผู้แต่งตั้งทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็หาใช่เป็นการคัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นอันจะทำให้จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดีหากมีการพิจารณาใหม่ไม่ คำขอของจำเลยจึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง ที่จะให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินตามสัญญากู้ยืม สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนองโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,749,095.87 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,749,095.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าได้ชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดใช้หนี้ หากได้เงินไม่พอใช้หนี้จึงให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองใช้หนี้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอ ขอให้พิจารณาใหม่
วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคำร้องขอพิจารณาใหม่แล้วยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำขอให้พิจารณาใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง บังคับให้คู่ความต้องกล่าวถึงเหตุที่ขาดนัดประการหนึ่ง และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลอีกประการหนึ่ง โดยละเอียดและชัดแจ้งทั้งสองประการ แต่คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 2 กล่าวแต่เหตุที่จำเลยที่ 2 ขาดนัดประการเดียว ส่วนข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลแสดงว่าขาดนัดพิจารณาและศาลได้มีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ซึ่งเป็นบทวางหลักไว้เฉพาะให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทกันเท่านั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 แพ้ในประเด็นที่พิพาทไว้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้กล่าวคัดค้านถึงเนื้อหาแห่งคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นดังกล่าวที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทไว้เลย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไรบ้าง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า โจทก์มิได้นำนายอมรกรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ แทนโจทก์มาเบิกความ คงมีแต่นายบุญเลิศผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อ ซึ่งมิใช่พนักงานบัญชีเพียงผู้เดียวมาเบิกความเป็นพยานถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงใด ทั้งมิได้นำเจ้าหน้าที่มาเบิกความรับรองถึงความถูกต้องแท้จริงของหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จึงฟังไม่ได้ว่านายอมรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และเป็นผู้แต่งตั้งทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้จริง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็หาใช่เป็นการคัดค้านในเนื้อหาแห่งคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นอันจะทำให้จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดีหากมีการพิจารณาใหม่ไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคสอง ที่จะให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.