คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ 3 โฉนด จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินโฉนดที่มีเนื้อที่มากที่สุดให้แก่บิดาโจทก์ โดยลงชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รับ ทนายความผู้เขียนสัญญาดูแต่ภาพถ่ายด้านหน้าโฉนด ไม่ได้ดูสารบัญจดทะเบียน เข้าใจว่าเป็นโฉนดที่ 2600 มีเนื้อที่มากที่สุด จึงได้เขียนสัญญาประนีประนอมยอมความไปตามนั้น จำเลยจำเลขโฉนดและเนื้อที่ทั้งสามแปลงไม่ได้ เข้าใจว่าทนายความลงเลขโฉนดและเนื้อที่ดินในสัญญาถูกต้องตรงเจตนาของจำเลย จึงรับว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อให้ไว้ แท้จริงโฉนดที่ 2598 มีเนื้อที่มากที่สุด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินโฉนดที่ 2600 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเก๊า แซ่เฮ้ง นายเจี๊ยบ แซ่เซียว และจำเลยร่วมกันลงเงินเข้าหุ้นส่วนประกอบการก่อสร้างอาคารและตึกแถวเพื่อหากำไรแบ่งกัน ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ ๒๕๙๘, ๒๖๐๐ และ ๒๖๐๒ โดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๒ เมื่อนายเจี๊ยบถอนหุ้นไปแล้ว นายเก๊ากับจำเลยตกลงเลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน แต่เนื่องจากจำเลยไม่มีเงินคืนให้จำเลยจึงตกลงยกที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นบุตรของนายเก๊า รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายสัญญาท้ายฟ้อง แต่จำเลยผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๖๐๐ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอน และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ด้วย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินทั้งสามแปลงด้วยทุนทรัพย์ของจำเลยเองก่อน แล้วต่อมานายเจี๊ยบและนายเก๊ามาเข้าหุ้นส่วนกับจำเลยก่อสร้างตลาดสดและห้องแถวในที่ดิน ๓ แปลง เพื่อหากำไรแบ่งกัน ก่อสร้างตลาดสดและห้องแถวในโฉนดที่ ๒๖๐๐ และ ๒๖๐๒ แล้ว นายเจี๊ยบขอถอนหุ้นไปก่อน ต่อมานายเก๊าขอถอนหุ้นอีก หลังจากที่บุคคลหลายคนช่วยกันไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยตกลงยอมยกที่ดินโฉนดที่ ๒๕๙๘ ให้แก่นายเก๊า แต่นายเก๊ามีสัญชาติจีนจึงไม่สามารถรับโอนที่ดินได้ ตกลงให้จำเลยโอนให้แก่โจทก์ทั้งสี่แทน จึงพากันไปหานายจรัส พ่วงภักดี ทนายความให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยและนายเก๊าบอกนายจรัสว่ายกที่ดินที่มีเนื้อที่มากที่สุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่ นายจรัสดูโฉนดเข้าใจว่าที่ดินที่ตกลงกันคือโฉนดที่ ๒๖๐๐ เพราะด้านหน้าระบุว่ามีเนื้อที่มากกว่าอีก ๒ แปลง นายจรัสจึงระบุเลขโฉนดในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโฉนดที่ ๒๖๐๐ เป็นการผิดจากเจตนาและข้อตกลงจำเลยและนายเก๊าต่างเชื่อว่าทำถูกต้องตรงกับเจตนาตามที่ตกลงกัน และต่างอ่านหนังสือไทยไม่ออก จึงลงชื่อในสัญญาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมและคุณสมบัติของทรัพย์ เมื่อจำเลยทราบความผิดพลาดจึงได้บอกเลิกสัญญา สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่าจำเลยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการโอน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า ด้านหน้าโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๐๐ ระบุเนื้อที่มากกว่าอีก ๒ โฉนด โดยระบุเนื้อที่ ๒ ไร่ ๕๕ ตารางวา แต่ตามสารบัญจดทะเบียนเจ้าของเดิมได้แบ่งขายให้กรมทดน้ำไป ๑ งาน ๘๙ ตารางวา จึงเหลือเนื้อที่ที่แท้จริง ๑ ไร่ ๒ งาน ๖๖ ตารางวา ส่วนด้านหน้าโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๙๘ ระบุเนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๒๘ ตารางวา ตามสารบัญจดทะเบียนก็ระบุเนื้อที่เท่าหน้าโฉนด ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ ได้ก่อสร้างตลาดสดและห้องเก็บสินค้า ๑๖ ห้อง ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๒ ก่อสร้างตึกแถว ๒๖ คูหา ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๒๕๙๘ มีโรงเรือนที่มีผู้เช่าอยู่เต็มเนื้อที่ยังไม่ได้ก่อสร้างสิ่งใดใหม่ และวินิจฉัยว่าวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยบอกนายจรัสว่า ยอมยกที่ดินที่มีเนื้อที่มากที่สุดให้แก่นายเก๊า แต่ต้องกันเนื้อที่ด้านใต้ของที่ดินนี้เป็นทางเดินหรือถนน นายเก๊าตกลงตามที่จำเลยเสนอ นายจรัสเอาภาพถ่ายโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงมาดู ไม่ได้ดูสารบัญจดทะเบียน ดูแต่เฉพาะด้านหน้าปรากฏว่าที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ มีเนื้อที่มากกว่าเนื้อที่ของอีก ๒ โฉนด นายจรัสเข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่มากที่สุดที่จำเลยตกลงยกให้โจทก์ทั้งสี่คือที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ นายจรัสจึงระบุลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยกที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๕๕ ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสี่ จำเลยจำเลขโฉนดและเนื้อที่ของที่ดินทั้ง ๓ แปลงไม่ได้ เข้าใจว่านายจรัสลงเลขโฉนดและเนื้อที่ดินในสัญญาประนีประนอมยอมความถูกต้องตรงกับเจตนาของจำเลย จำเลยจึงรับว่าถูกต้องแล้วลงลายมือชื่อให้ไว้ เห็นได้ว่านายจรัสไม่ทราบมาก่อนว่าโฉนดที่ ๒๖๐๐ ถูกแบ่งแยกไป ๑ งาน ๘๙ ตารางวา และคงเหลือเนื้อที่เพียง ๑ ไร่ ๒ งาน ๖๖ ตารางวา และไม่ได้ตรวจดูสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดให้ละเอียดเสียก่อน เข้าใจว่าโฉนดที่ ๒๖๐๐ มีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๕๕ ตารางวา ดังที่ระบุไว้ทางด้านหน้าของโฉนด จึงได้ร่างและพิมพ์สัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยยกที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๕๕ ตารางวาให้โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นความผิดของนายจรัส จะถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อยังไม่ได้ เมื่อจำเลยเข้าใจว่านายจรัสทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ตามเจตนาของจำเลย การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินโฉนดที่ ๒๖๐๐ ให้โจทก์ทั้งสี่นั้น เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙
พิพากษากลับเป็นว่าให้ยกฟ้อง

Share