แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า เนื่องจากที่ดินที่เช่าถูกบุคคลภายนอกฟ้องร้องว่าตกอยู่ในภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาว่าที่ดินที่เช่าตกอยู่ในภารจำยอม จึงเป็นประเด็นโดยตรงซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และศาลชั้นต้นในคดีซึ่งบุคคลภายนอกฟ้องโจทก์และจำเลยได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อรั้วคอนกรีตกั้นทางเดินที่อ้างว่าเป็นภารจำยอมออก แต่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันจริง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่ามีความหมายอยู่ในตัวว่า หากคดีดังกล่าวถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันก็ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า จึงเป็นกรณีที่ต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเอง จึงมีเหตุสมควรที่ต้องเลื่อนการพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 39 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาในสาระสำคัญว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะรับฟังได้หรือรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องรับฟังกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฉะนั้นเมื่อคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกเสีย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2536 (ที่ถูกวันที่ 7 ตุลาคม 2535) โจทก์ที่ 1 ตกลงเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29067 และ 1021 ตำบลบางระมาดอำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จากจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 จะนำไปให้โจทก์ที่ 2 เช่าช่วงเพื่อก่อสร้างอู่จอดรถไมโครบัสมีกำหนดระยะเวลาเช่า 12 ปี5 เดือน โดยผู้ให้เช่ารับรองว่าที่ดินที่ให้เช่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ กับบุคคลอื่นหากผู้เช่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเต็มที่ ยินยอมให้ผู้เช่าปรับวันละ2,000 บาท หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 เช่าช่วง โจทก์ที่ 2ดำเนินการก่อสร้างอู่จอดรถไมโครบัสโดยทำรั้วล้อมรอบที่ดินและเทพื้นซีเมนต์พร้อมทั้งก่อสร้างสำนักงานและโรงซ่อมรถ ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2536นายสำราญ ปานทอง กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ 1เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536 และศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์ โดยให้ทุบรั้วของโจทก์ที่ 1 เปิดเป็นทางเดิน และโจทก์ที่ 1 ทราบจากเจ้าหน้าที่เขตตลิ่งชันว่าจำเลยทราบเรื่องที่ชาวบ้านเดินผ่านที่ดินที่เช่ามาเป็นเวลากว่า10 ปี จนตกเป็นภารจำยอมมานานแล้ว แต่จำเลยปกปิดความจริง หากโจทก์ที่ 1 ทราบจะไม่เช่าที่ดินแปลงดังกล่าว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ที่ 1ได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าได้เต็มพื้นที่ขอคิดเบี้ยปรับรายวันเป็นเงิน 1,200,000 บาท ค่าเสียหายที่ต้องจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 164,717.03 บาท ค่าทำรั้วลวดหนาม30,398.86 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,395,115.89 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,395,115.89 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระเงินเดือนละ 67,342.79 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีละเมิดโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จำเลยไม่เคยมีภาระผูกพันให้ผู้หนึ่งผู้ใดเดินผ่านเข้าออกในที่ดินที่เช่าได้ จำเลยไม่เคยทราบเรื่องภารจำยอมจำเลยไม่เคยยินยอมให้ชาวบ้านถือสิทธิเดินผ่านเข้าออกในที่ดินที่เช่า โจทก์ที่ 1 ทราบดีว่าที่ดินที่เช่าไม่มีการรอนสิทธิใด ๆ จำเลยมิได้กระทำละเมิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกค่าปรับจากจำเลย โจทก์ทั้งสองมิได้จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นและมิได้เสียค่าใช้จ่ายในการทำรั้วลวดหนาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ชี้ขาดว่าจำเลยไม่ผิดสัญญา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่และประเด็นที่เหลือต่อไปโดยให้รอฟังผลคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1641/2536 ของศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีให้ยกอุทธรณ์โจทก์ที่ 2 ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นร่วมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2535 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29067 และ 1021ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จากจำเลย มีกำหนดระยะเวลา 12 ปี 5 เดือน โดยยินยอมให้โจทก์ที่ 1 นำไปให้โจทก์ที่ 2 เช่าช่วงเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดและซ่อมบำรุงรถไมโครบัส และจำเลยรับรองว่าที่ดินที่ให้เช่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ กับบุคคลอื่น หากผู้เช่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าปรับในอัตราวันละ 2,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมายจ.1 และ จ.2 โจทก์ที่ 1 ได้รับมอบที่ดินที่เช่าพร้อมกับเข้าดำเนินการก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว และทำสัญญาให้โจทก์ที่ 2 เช่าช่วง ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ต่อมานายสำราญ ปานทอง กับพวกยื่นฟ้องจำเลยและโจทก์ที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้เปิดทางภารจำยอมในที่ดินที่เช่า ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536 และศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อถอนรั้วที่โจทก์ที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อเปิดทางให้โจทก์คดีดังกล่าวผ่านเข้าออก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า โจทก์ที่ 1มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งในประเด็นปัญหานี้เกิดจากคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงวินิจฉัยในปัญหานี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อคดีที่จำเลยถูกฟ้องให้เปิดทางภารจำยอมยังไม่ถึงที่สุด ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพัน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยโดยมีคำรับรองของจำเลยว่าที่ดินที่ให้เช่าไม่มีภาระผูกพันใด ๆ กับบุคคลอื่น แต่ภายหลังกลับปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ที่ 1 ถูกฟ้องได้เปิดทางภารจำยอม ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวโดยให้รื้อรั้วที่โจทก์ที่ 1 ก่อสร้างขึ้นเพื่อเปิดทางผ่านเข้าออกเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการใช้ที่ดินที่เช่า ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ชี้ขาดว่าจำเลยไม่ผิดสัญญา โดยให้ศาลชั้นต้นรอฟังผลคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536 ของศาลชั้นต้น แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ กับประเด็นที่เหลือต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ชอบหรือไม่นั้นเห็นว่า สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 เป็นเรื่องจำเลยผิดสัญญาเช่า เนื่องจากที่ดินที่เช่าถูกบุคคลภายนอกฟ้องร้องว่าตกอยู่ในภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ ผิดจากคำรับรองของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าปรับในอัตราวันละ 2,000 บาท พร้อมค่าเสียหายอย่างอื่นแก่โจทก์ที่ 1ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 11 ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาว่าที่ดินที่เช่าตกอยู่ในภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดีซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้รื้อรั้วคอนกรีตกั้นทางเดินที่อ้างว่าเป็นภารจำยอมออกจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536 นั้นเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าอย่างเต็มที่แต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยังไม่ถึงที่สุดเด็ดขาดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันจริง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่ามีความหมายอยู่ในตัวว่า หากคดีดังกล่าวถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันก็ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า จึงเป็นกรณีที่ต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเอง มีเหตุสมควรที่ต้องเลื่อนการพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยคดีไปโดยไม่รอการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ก่อน เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบไม่ทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ตามคำฟ้องหากมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ ต้องถือว่าคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้ยกเสียนั้นเห็นว่า การพิจารณาว่าคำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ต้องพิจารณาในสาระสำคัญว่าคำฟ้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะรับฟังได้หรือรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องรับฟังกันต่อไปในชั้นพิจารณาฉะนั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกเสียดังจำเลยอ้างส่วนฎีกาของจำเลยในทำนองว่า ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการพิจารณาเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536ของศาลชั้นต้นนั้น แม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เลื่อนการพิจารณาเพื่อรอฟังผลคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1641/2536ของศาลชั้นต้น แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ