คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำไปก่อนแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เหลือจึงไม่ใช่บริเวณที่เจ้าท่าผู้ร้องต้องการให้ผู้คัดค้านรื้อถอนออกไป ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขับไล่ผู้คัดค้านนั้นเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ฎีกาของผู้คัดค้านจึงไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช2456 เมื่อประมาณก่อนเดือนเมษายน 2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดผู้คัดค้านได้ปลูกสร้างแพเพื่อประกอบกิจการขายอาหารชื่อแพอาหารบัวริมแคว โดยปักเสาสร้างเป็นโรงเรือนมีหลังคาคลุมขนาดเนื้อที่ประมาณ 290 ตารางเมตร ต่อมาประสบอุทกภัยธรรมชาติกระแสน้ำพัดพาพังทลายไปบางส่วน เหลือเนื้อที่ประมาณ 266.80ตารางเมตร ล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำแควใหญ่(แม่น้ำแม่กลอง) บริเวณหน้าที่ดินของเทศบาล ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นทางสัญจรของประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ร้อง และไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2534 เจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขากาญจนบุรีตรวจพบการกระทำความผิดของผู้คัดค้านจึงเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน500 บาท ซึ่งผู้คัดค้านยอมชำระค่าปรับดังกล่าว และในวันที่ 29 เมษายน2536 นายมานะ จันทรศรี ผู้รับมอบอำนาจจากผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างโรงเรือนมีหลังคาคลุมเพื่อประกอบกิจการขายอาหารดังกล่าวล่วงล้ำแม่น้ำแควใหญ่ ผู้ร้องพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตครั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ผู้ร้อง โดยนางสาวนงเยาว์ พรึงลำภูเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขากาญจนบุรี ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ร้องได้มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองจัดการรื้อถอนแพอาหารบัวริมแควไปให้พ้นจากแม่น้ำแควใหญ่ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2537 แต่ผู้คัดค้านยังคงครอบครองแพอาหารดังกล่าวตลอดมาโดยไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรื้อถอนแพอาหารบัวริมแควออกไปเสียจากแม่น้ำแควใหญ่ตามกำหนดที่ศาลเห็นสมควร หากไม่ยอมปฏิบัติตามขอให้ผู้ร้องหรือผู้แทนเป็นผู้จัดการรื้อถอนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยให้ผู้คัดค้านเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้ปลูกสร้างแพเพื่อประกอบกิจการขายอาหารจริง แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องปลูกสร้างโดยถูกต้องต่อเทศบาลเมืองกาญจนบุรี เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้วขณะนั้น บริเวณที่ผู้คัดค้านปลูกสร้างยังคงเป็นพื้นดิน ผู้คัดค้านไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำแควใหญ่แต่อย่างใด แต่ต่อมาถูกกระแสน้ำเซาะตลิ่งเข้ามาจนเป็นเหตุให้บริเวณพื้นดินดังกล่าวพังลง บริเวณดังกล่าวมิได้เป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 4เมษายน 2534 ผู้คัดค้านเสียค่าปรับให้แก่เจ้าท่าภูมิภาคที่ 4(ที่ถูกเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3) จริง แต่เป็นเรื่องมิใช่เกิดจากการละเมิดต่อผู้ร้องผู้คัดค้านไม่เคยได้รับหนังสือให้จัดการรื้อถอนแพอาหารจากผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านรื้อถอนสิ่งที่ล่วงล้ำลำน้ำออกไปให้พ้นเสียจากแม่น้ำแควใหญ่ (แม่น้ำแม่กลอง) ภายในกำหนด30 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษา หากไม่ยอมรื้อถอนภายในกำหนดเวลาให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน โดยให้ผู้ร้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์และให้ผู้คัดค้านเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ผู้คัดค้าน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำไปก่อนแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เหลือตามภาพถ่ายหมาย ร.2 และ ร.3 (ที่ถูกตามแผนที่และภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.2 และร.3 จึงไม่ใช่บริเวณที่ผู้ร้องต้องการให้ผู้คัดค้านรื้อถอนออกไป ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขับไล่ผู้คัดค้านนั้น ฎีกาของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใดฎีกาของผู้คัดค้านจึงไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาคัดค้าน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน

Share