เรื่อง โอนสิทธิเรียกร้อง จำนอง พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2260/2562)

เรื่อง โอนสิทธิเรียกร้อง จำนอง พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2260/2562

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คงบัญญัติแต่เพียงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องจะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์  ไม่ได้กำหนดบังคับว่าจะต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อได้ความว่าวันที่ 21 กันยายน 2553 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์และหลักประกันของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นสิทธิจำนอง จำนำ สิทธิค้ำประกันที่ลูกหนี้รวมทั้งจำเลยมีต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์แล้ว  ตามสำเนาสัญญาโอนสินทรัพย์ และรายชื่อลูกหนี้เอกสารหมาย จ.18 ทั้งโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบโดยวิธีโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน “กรุงเทพธุรกิจ” ตามสำเนาหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.19 ดังนี้ต้องถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำถูกต้องสมบูรณ์ ตาม มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว  ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้อง คือการโอนหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับลูกหนี้ และเมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้ดังกล่าวไปย่อมเกิดผลในทางกฎหมาย ทำให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือหลักประกันทางธุรกิจที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้อง สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ได้ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอน ตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง โดยเจ้าหนี้ผู้รับโอนมิพักต้องทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนำ กับลูกหนี้เป็นฉบับใหม่อีก สิทธิดังกล่าวก็มีผลใช้บังคับระหว่างกันได้ อันแตกต่างไปจากกรณีของการก่อหนี้สัญญาจำนองปกติทั่วไป  ซึ่งต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 714 ส่วนกรณีที่พระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกัน ให้หลักประกันนั้น ตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ด้วย” นั้น เห็นว่า เป็นบทบัญญัติเรื่องการโอนสินทรัพย์ซึ่งหมายถึง สินทรัพย์ทั้งหมดรวมทั้งบรรดาสิทธิเรียกร้องที่มีของผู้โอนและสิทธิเรียกร้องได้มีบัญญัติไว้อยู่แล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 305 วรรคหนึ่ง แต่ยังมิได้รวมถึงเรื่องหลักประกันอื่น ที่พระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 บัญญัติดังกล่าว จึงพอแปลได้ว่าเป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงหลักประกันอื่นถ้ามีว่า ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีหลักประกันอื่นก็ให้หลักประกันอื่นนอกจากสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันโอนไปพร้อมกับสิทธิดังกล่าวด้วย หาได้แปลความว่า การโอนสินทรัพย์ทำให้หลักประกันอื่นเป็นการเฉพาะตกแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส่วนสิทธิจำนองและสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันดังกล่าวไม่ตกไปด้วยแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งสิทธิจำนองระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้โอน กับโจทก์ผู้รับโอนชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีส่วนได้เสียจึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้

                        ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองมีสิทธิในการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความก็ตามแต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกิน  5 ปี ขึ้นไปไม่ได้ และมาตรา 193/33 บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเฉพาะส่วน  โดยโจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 21,000,000 บาทถึงวันฟ้อง 5 ปี เป็นเงิน 19,950,000 บาท ตามมาตรา 745 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

                            เมื่อธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจำนองไม่ได้ขอรับชำระหนี้ ในคดีที่จำเลยล้มละลาย ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ยังคงมีสิทธิเหนือทรัพย์จำนองของจำเลย โจทก์ได้รับช่วงสิทธิมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่รับโอนหนี้จากธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) จึงไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  แต่มีสิทธิฟ้องบังคับเอากับทรัพย์จำนองได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 และ 95   อนึ่ง แม้ตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันข้อ 6 ระบุว่า “เมื่อมีการบังคับจำนองเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วก็ดีหรือเมื่อผู้รับจำนองเอาทรัพย์สินจำนองหลุดเป็นสิทธิ  และราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับหนี้อุปกรณ์ดังได้กล่าวมาแล้วก็ดี เงินยังขาดจำนวนเท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบ” แต่เมื่อหนี้ประธานคือหนี้ตามสัญญากู้ยืมที่จำเลยทำไว้ต่อเจ้าหนี้เดิมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 โจทก์รับโอนและนำมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เกินกำหนดเวลาสิบปีขาดอายุความแล้วข้อเท็จจริงย่อมถือได้ว่า หนี้ประธานเป็นอันระงับไป ไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกต่อไป โจทก์คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำเลยจำนองไว้เท่านั้น  จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยไม่ได้./

 (ฎีกา 2260/2562) 

Share