แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เอาทรัพย์ของ ส. และผู้เสียหายไปก็เป็นการกระทำตามที่ ฟ. ใช้ให้ไปเอาเพื่อเป็นการใช้หนี้ที่ ส. สามีของผู้เสียหายเป็นหนี้ ฟ. อยู่ เป็นการเอาไปเพื่อหักใช้หนี้กัน แสดงให้เห็นว่า เป็นการที่ ฟ. ใช้อำนาจของการเป็นเจ้าหนี้บังคับเอาทรัพย์ไปเพื่อชำระหนี้แก่ตนโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะกระทำได้และในประการสำคัญยังเข้าใจว่าตนในฐานะที่เป็นบิดาของ ส. มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่จะต้องตกได้แก่ตนรวมอยู่อีกด้วย ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และ ฟ. นำทรัพย์ที่ขนเอาไปมาคืนให้แก่ผู้เสียหายในเวลาต่อมาก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายหรือที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 2,500 บาท ที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับคืน
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 334) ประกอบด้วย มาตรา 336 ทวิ, 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก คนละ 12 เดือน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางสาวทัศนีผู้เสียหายเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของนายสุธีร์ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวของนายสุธีร์และเป็นบุตรของนายเฟือง จำเลยที่ 2 เป็นน้องสาวของนายเฟืองและเป็นอาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้าง ซึ่งทำงานติดตั้งกระจกอะลูมิเนียมอยู่กับนายสุธีร์จำเลยทั้งสี่ร่วมกันไปที่บ้านเกิดเหตุของผู้เสียหายกับนายสุธีร์ ใช้กุญแจเปิดประตูบ้านเข้าไปในบ้านและงัดประตูห้องนอนของผู้เสียหายจนเปิดออกแล้วเข้าไปยังห้องนอนขนเอาทรัพย์สินภายในบ้านรวม 11 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายบรรทุกรถยนต์กระบะขับไปไว้ที่บ้านของนายเฟืองบิดาของนายสุธีร์กับจำเลยที่ 1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจโทธรรมนูญเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ เวลา 21.30 นาฬิกา ขณะที่พยานกับพวกปฏิบัติหน้าที่สายตรวจได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจันทบุรีว่า มีผู้แอบอ้างจะขนสิ่งของภายในบ้านเลขที่ 184/26 หมู่ที่ 4 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี จึงได้พร้อมกับพวกเดินทางไปยังบ้านเกิดเหตุพบนายวิรัตน์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผู้รับฝากดูแลบ้านจากผู้เสียหายที่อยู่ระหว่างจัดงานศพของสามี กับจำเลยทั้งสี่สอบถามได้ความว่า จำเลยทั้งสี่จะมาขนเอาอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องตัดอะลูมิเนียมในบ้านหลังนี้ เนื่องจากนายสุธีร์ไปยืมเงินจากบิดาของจำเลยที่ 1 แล้วค้างชำระอยู่ บิดาของจำเลยที่ 1 จึงให้มาเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปไว้ที่บ้านของบิดาที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่นายวิรัตน์ไม่ยินยอมเปิดประตูให้อ้างว่า ผู้เสียหายยืนยันไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าไปในบ้าน พยานจึงวิทยุสื่อสารแจ้งให้ร้อยเวรสอบสวนที่สถานีตำรวจทราบ ร้อยเวรสอบสวนแจ้งกลับมาว่าหากจำเลยทั้งสี่อ้างว่ามี สิทธิที่จะขนก็ให้ขนไปได้ หากมีเรื่องพิพาทกันในภายหลังก็ให้ดำเนินคดีเอา นายวิรัตน์จึงยินยอมเปิดประตูบ้านให้จำเลยทั้งสี่เข้าไปขนทรัพย์สินภายในบ้าน โดยพยานดูการขนทรัพย์สินอยู่ด้วยจนเสร็จ และได้ความจากร้อยตำรวจโทอุทัยวัฒน์พนักงานสอบสวนที่เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่าจากการสอบสวนทราบว่านายเฟืองซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 และบิดาของนายสุธีร์สามีผู้เสียหายมีเหตุขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องที่นายสุธีร์ขอยืมเงินนายเฟืองมาลงทุนทำธุรกิจแล้วเกิดการขาดทุนเป็นจำนวนมาก และการที่จำเลยที่ 1 ไปนำทรัพย์สินมาจากบ้านของผู้เสียหายก็ด้วยเจตนาจะเอามาหักหนี้โดยนายเฟืองเป็นผู้ใช้ให้จำเลยทั้งสี่มาเอาทรัพย์สินที่บ้านของผู้เสียหาย และให้นำไปเก็บไว้ที่บ้านของนายเฟืองและเบิกความต่อมาอีกว่า นายเฟืองแจ้งแก่พยานว่า นายเฟืองก็เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายสุธีร์คนหนึ่งเช่นกัน เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการสอบสวนของร้อยตำรวจโทอุทัยวัฒน์ดังกล่าวเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่านายสุธีร์มีปัญหาเรื่องการเงินเนื่องจากทำงานแล้วขาดทุนจึงเอาเงินของนายเฟืองมาใช้ ในวันเกิดเหตุนายเฟืองใช้ให้จำเลยที่ 1 มาเอาทรัพย์สินที่บ้านเกิดเหตุไปไว้ที่บ้านของนายเฟืองอีกด้วย เมื่อรับฟังประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการเอาทรัพย์สินไปซึ่งได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าสิบตำรวจโทธรรมนูญที่ได้รับแจ้งให้ไปที่บ้านเกิดเหตุ และนายวิรัตน์ซึ่งผู้เสียหายฝากให้ดูแลบ้าน โดยก่อนจะขนเอาทรัพย์ไปก็ได้มีการพูดคุยกันว่าให้จำเลยทั้งสี่ขนเอาทรัพย์ไปได้ แต่หากมีเรื่องพิพาทกันภายหลังก็จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ดังที่สิบตำรวจโทธรรมนูญเบิกความข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เอาทรัพย์ของนายสุธีร์และผู้เสียหายไปก็เป็นการกระทำตามที่นายเฟืองใช้ให้ไปเอาเพื่อเป็นการใช้หนี้ที่นายสุธีร์สามีของผู้เสียหายเป็นหนี้นายเฟืองอยู่ เป็นการเอาไปเพื่อหักใช้หนี้กันแสดงให้เห็นว่า เป็นการที่นายเฟืองใช้อำนาจของการเป็นเจ้าหนี้บังคับเอาทรัพย์ไปเพื่อชำระหนี้แก่ตนโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะกระทำได้และในประการสำคัญยังเข้าใจว่าตนในฐานะที่เป็นบิดาของนายสุธีร์มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสุธีร์ที่จะต้องตกได้แก่ตนรวมอยู่อีกด้วย ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนายเฟืองนำทรัพย์ที่ขนเอาไปมาคืนให้แก่ผู้เสียหายในเวลาต่อมาก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายหรือที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยไม่มีเจตนาทุจริต จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีเจตนาร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยไปโดยเจตนาทุจริตแล้ว และการเอาทรัพย์กลับมาคืนให้ผู้เสียหายภายหลังไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 พ้นจากความผิดฐานลักทรัพย์ไปได้นั้นฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันคืนพระหลวงพ่อสมชายเลี่ยมทองหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า เกี่ยวกับคดีนี้ได้คืนทรัพย์สินให้กันหมดแล้ว และผู้เสียหายก็ไม่ได้ติดใจเอาความอะไร พระหลวงพ่อสมชายราคา 2,500 บาท ตนก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนโจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่เคยให้การไว้ว่า ยังไม่ได้รับคืนพระหลวงพ่อสมชายเลี่ยมทองซึ่งก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าเพราะโจทก์มิได้นำผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันว่ามีทรัพย์รายการนี้อยู่จริงและขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มาช่วยกันขนเอาของไปจากบ้านเกิดเหตุนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเห็นทรัพย์รายการนี้ ทรัพย์รายการนี้จะมีอยู่ในตู้เซฟที่ยกไปหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ เพราะไม่มีการเปิดตู้เซฟตรวจดูในขณะนั้นและแม้โจทก์จะมีร้อยตำรวจโทอุทัยวัฒน์พนักงานสอบสวนมาเบิกความตอนหนึ่งว่า ยังมีทรัพย์ส่วนที่ยังไม่ได้คืนอีก 1 รายการ ปรากฏตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนและเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่าในวันที่นายเฟืองนำทรัพย์สินมาคืนนั้นได้พบกับผู้เสียหายด้วย จากการเจรจาระหว่างนายเฟืองกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ติดใจในทรัพย์สินส่วนใหญ่คงติดใจเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับพระเครื่องคือพระหลวงพ่อสมชายเลี่ยมทองที่ยังไม่ได้คืนก็ตาม แต่ข้อความและการทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนดังกล่าวก็เป็นข้อความที่บันทึกไปตามคำบอกของผู้เสียหาย คำเบิกความของร้อยตำรวจโทอุทัยวัฒน์ดังกล่าวจึงถือเป็นเพียงพยานบอกเล่าอีกเช่นกัน ไม่อาจนำมารับฟังประกอบกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายซึ่งเป็นพยานบอกเล่าด้วยกันดังที่โจทก์ฎีกาได้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า มีทรัพย์ดังกล่าวที่จะต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายตามฎีกาของโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน