คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งหกซึ่งมีหน้าที่จัดทำสัญญาค้ำประกัน มิได้เขียนหรือพิมพ์ชื่อบุคคลที่เป็นพยานในสัญญาให้ชัดเจนไว้ใต้ลายมือชื่อของบุคคลดังกล่าว หรือมิได้จัดให้มีการทำวงเล็บใต้ลายมือชื่อพยานเช่นว่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์อาจฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดโดยอาศัยสัญญาค้ำประกันดังกล่าวและอ้างจำเลยทั้งหกเป็นพยานได้อยู่แล้วเมื่อฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกดังกล่าวเป็นการประพฤติฝ่าฝืนต่อระเบียบหรือกฎข้อบังคับของโจทก์อย่างไรแล้ว ศาลชอบที่พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ภายหลังที่สั่งรับฟ้องโจทก์แล้วไปเสียทีเดียวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งหกรับราชการในส่วนการศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำควบคุมตรวจสอบสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม ณ สถานศึกษาภายในประเทศของข้าราชการครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบหนังสือสัญญาค้ำประกันในคดีนี้ด้วย เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2522 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2522 นายอุดม พรหมรินทร์ข้าราชการครูโรงเรียนบ้านบอน อำเภอปง จังหวัดพะเยา สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อชั้นปริญญาตรี และได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อ ณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน นับแต่วันที่1 มิถุนายน 2522 นายอุดมได้ทำสัญญาลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมณ สถานศึกษาภายในประเทศของข้าราชการครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ให้ไว้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา โดยนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้รับสัญญา และมีสัญญาค้ำประกันต่อท้ายสัญญาดังกล่าวว่า หากนายอุดมไม่สามารถหรือบิดพริ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมด นายนิคมพรหมรินทร์ผู้ค้ำประกันยินยอมรับใช้เงินแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแทนทุกประการซึ่งจำเลยทั้งหกมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำตรวจสอบกลั่นกรองเรื่องราวสัญญาทั้งสองฉบับ เสนอต่อนายสัญญาเป็นผู้อนุมัติในการลาศึกษาต่อและเป็นคู่สัญญากับนายอุดม ต่อมานายอุดม พรหมรินทร์ ประพฤติผิดสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม โจทก์ได้ฟ้องนายอุดมเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดพะเยา) ศาลได้พิพากษาให้นายอุดมชดใช้เงินจำนวน 57,782 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวคดีถึงที่สุดแล้ว แต่เนื่องจากยังสืบเสาะหาทรัพย์สินของนายอุดมไม่พบ โจทก์จึงยังมิได้รับชำระหนี้จากนายอุดมตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ประสงค์จะฟ้องนายนิคม ผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน แต่เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งหกที่ไม่ได้เขียนหรือพิมพ์ชื่อบุคคลที่เป็นพยานในสัญญาให้ชัดเจนไว้ใต้ลายมือชื่อของพยานในหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวว่าเป็นใคร ทำให้ขาดพยานบุคคลผู้ที่จะเป็นพยานยืนยันว่า นายนิคมเป็นผู้ค้ำประกันและลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงฟ้องผู้ค้ำประกันตามสัญญาไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันและแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 57,782 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องว่า รับคำฟ้องโจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพราะโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องผู้ค้ำประกัน จึงให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาฟ้องโจทก์ แล้วพิพากษายกฟ้องไปเสียทีเดียวนั้นชอบหรือไม่ศาลฎีกาตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งหกกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ได้เขียนหรือพิมพ์ชื่อบุคคลที่เป็นพยานในสัญญาให้ชัดเจนไว้ใต้ลายมือชื่อของบุคคลที่เป็นพยานหรือจัดให้มีการทำวงเล็บใต้ลายมือชื่อของบุคคลที่เป็นพยานไว้เป็นหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นใคร ในอันที่จะเป็นพยานยืนยันว่านายนิคม พรหมรินทร์ เป็นผู้ค้ำประกันจริง ทำให้ขาดพยานบุคคลที่จะยืนยันว่า นายนิคมเป็นผู้ค้ำประกันและลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันจริง โจทก์จึงฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเลยว่า จำเลยทั้งหกประพฤติฝ่าฝืนระเบียบหรือกฎข้อบังคับของโจทก์ประการใดบ้าง ตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก็มีข้อความระบุชัดว่า นายนิคม พรหมรินทร์ เป็นผู้ค้ำประกันนายอุดม พรหมรินทร์ ตามสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม ณ สถานศึกษาภายในประเทศ ทั้งมีลายมือชื่อนายนิคมซึ่งลงชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันกับมีลายมือชื่อพยาน 2 คน เช่นนี้โจทก์ย่อมฟ้องนายนิคม พรหมรินทร์ ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสองตามสำเนาสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม ณ สถานศึกษาภายในประเทศเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ก็ปรากฏชัดว่า ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานในเอกสารฉบับนี้ทั้งสองคนก็เป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ทั้งไม่มีการวงเล็บชื่อหรือพิมพ์ชื่อพยานให้อ่านได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน ตามฟ้องโจทก์นั้นโจทก์ก็บรรยายไว้ชัดว่า โจทก์สามารถฟ้องให้นายอุดม พรหมรินทร์รับผิดตามสัญญาการลาไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม ณ สถานศึกษาภายในประเทศโดยศาลพิพากษาให้นายอุดมชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นพยานในสัญญาดังกล่าวเช่นเดียวกับหนังสือค้ำประกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะฟ้องให้นายนิคมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ได้ โจทก์มิได้ฟ้องให้นายนิคมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันรายนี้ โจทก์จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยทั้งหกกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ทั้งนี้เพราะหากโจทก์ฟ้องนายนิคม โจทก์ก็อาจชนะคดีได้ ในเมื่อมีพยานเอกสารคือหนังสือค้ำประกันเป็นหลักฐานอยู่แล้ว หากนายนิคมปฏิเสธว่ามิได้ลงชื่อในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์ก็มีทางพิสูจน์ลายมือชื่อของนายนิคมได้ทั้งอาจหาพยานบุคคลเช่นจำเลยทั้งหกมายืนยันว่านายนิคมได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันจริงได้โดยไม่ยากนักศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งหกกระทำโดยประมาทเลินเล่อถึงขนาดที่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share