คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไป จะต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งกีดกั้นแล้วผ่านเข้าไป เมื่อประตูหน้องนอนที่เปิดอยู่มิได้มีสภาพเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ จำเลยซึ่งผู้เสียหายเชิญให้มาร่วมฉลองปีใหม่ที่บ้านเดินขึ้นไปชั้นบนเข้าห้องนอนทางประตูดังกล่าวซึ่งเปิดอยู่แล้วลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335(3) เท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามมาตรา335(8) เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา335(8) ด้วย ปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2529 เวลากลางวันจำเลยบุกรุกขึ้นไปบนชั้นสองของบ้านอันเป็นเคหสถานของนางมาลีรัตน์เอี้ยวสกุล ผู้เสียหายแล้วเปิดประตูห้องนอน ซึ่งเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและผ่านเข้าไปลักทรัพย์ต่าง ๆ ของผู้เสียหายไปรวมราคา 1,599,050 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335(3) (8) ที่แก้ไขแล้ว ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 26,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3) จำคุก 5 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในห้าคงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 26,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) และ (8) ด้วย ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยฎีกาจำเลยก่อน มีปัญหาว่า จำเลยได้ลักทรัพย์ผู้เสียหายจริงหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานคือเด็กหญิงสรัสวดี เอี้ยวสกุล อายุ 15 ปี บุตรผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้วผู้เสียหายออกจากบ้านไปซื้ออาหารเพื่อจัดฉลองปีใหม่ในตอนเย็นเด็กหญิงสรัสวดี ดูโทรทัศน์อยู่ในห้องชั้นสองซึ่งเป็นห้องนอนของผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยกับบุตรสองคน ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมฉลองปีใหม่ได้เข้ามาในบ้าน เหตุที่เด็กหญิงสรัสวดีทราบเพราะได้ยินจำเลยคุยกับบุตร เด็กหญิงสรัสวดีจึงลงไปกล่าวสวัสดี จำเลยถามว่าประตูห้องข้างบนล็อกหรือไม่ เด็กหญิงสรัสวดีตอบว่าไม่ได้ล็อกจำเลยก็รีบเดินขึ้นไปชั้นบนผ่านห้องนอนไปยังห้องพระ เด็กหญิงสรัสวดีก็ตามไป จำเลยเปิดฝาบาตรน้ำมนต์หยิบพระเครื่องในบาตรขึ้นมาดู เด็กหญิงสรัสวดีห้ามปรามว่ามารดาไม่อนุญาตให้ใครมาค้นแต่จำเลยไม่เชื่อฟัง ยังค้นบาตรใบอื่นอีก 4 ใบ แล้วหยิบพระเครื่องใส่ลงในกระเป๋า จากนั้นเดินไปค้นที่หน้ากระจก โต๊ะเครื่องแป้งในห้องนอนผู้เสียหายหยิบเครื่องเพชรของผู้เสียหายขึ้นมาดู พร้อมกับถอดตุ้มหูของจำเลยมาไว้ในมือ ทำทีว่าจะใส่ลงในกระเป๋า ซึ่งขณะนั้นในมือดังกล่าวมีของอย่างอื่นอยู่ด้วย จำเลยได้หยิบตุ้มหูของผู้เสียหายลองใส่ดู เด็กหญิงสรัสวดีขอคืน จำเลยก็คืนให้เด็กหญิงสรัสวดีเชิญให้จำเลยลงไปข้างล่าง จำเลยไม่ไป อ้างว่าขอทำสมาธิและไล่เด็กหญิงสรัสวดีลงไปข้างล่าง เด็กหญิงสรัสวดีไม่ยอมลงไปขอนั่งสมาธิด้วย จำเลยไม่ได้นั่งทำสมาธิแต่นั่งดูพระเครื่อง ส่วนเด็กหญิงสรัสวดี จึงไปเปิดดูโทรทัศน์ ขณะดูโทรทัศน์ก็เห็นจำเลยอยู่จนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายกลับมา เด็กหญิงสรัสวดีจึงลงมาข้างล่างเล่าเรื่องให้ผู้เสียหายฟังผู้เสียหายจึงให้ไปเชิญจำเลยลงมาและให้ล็อกห้อง เด็กหญิงสรัสวดีขึ้นไปพบจำเลยอยู่ในห้องจำเลยไม่ให้ล็อกอ้างว่าลืมผ้าเช็ดหน้าเด็กหญิงสรัสวดีจึงเชิญจำเลยลงมาข้างล่าง และสำรวจว่าผ้าเช็ดหน้าของจำเลยอยู่ที่ไหน เมื่อไปที่หน้ากระจกพบว่าธนบัตรใบละ 500 บาทซึ่งผู้เสียหายให้ไปเสียค่าเทอมและเป็นส่วนที่เหลือในกระเป๋าได้หายไป ธนบัตรดังกล่าวมีรอยฉีกและมีลายมือชื่อเขียนด้วยดินสอว่าเด็กหญิงสรัสวดี เอี้ยวสกุล ม.3/5 เด็กหญิงสรัสวดีจึงไปบอกผู้เสียหาย ผู้เสียหายว่าเฉย ๆ ไว้ก่อนจะจัดการเอง ศาลฎีกาเห็นว่าเด็กหญิงสรัสวดีอายุ 15 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.3 อยู่ในวัยเจริญเติบโตเท่าที่เบิกความดังกล่าวมีความเฉลียวฉลาดตามวิสัยไม่อยากให้คนอื่นไปละลาบละล้วงทรัพย์สินของบิดามารดาเกินสมควรได้พูดห้ามปรามแล้ว จำเลยไม่ฟังจึงได้นั่งดูโทรทัศน์อยู่ใกล้ ๆและเล่าเรื่องให้ ผู้เสียหายฟังทันทีเมื่อผู้เสียหายกลับมาคำเบิกความของเด็กหญิงสรัสวดีมีเหตุผล จึงมีน้ำหนักดี เมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องจากเด็กหญิงสรัสวดีแล้ว จึงปรึกษานายสุธรรมเอี้ยวสกุล สามี และมีความเห็นว่าควรจัดการเมื่องานเลิกเสียก่อนต่อมาเวลาประมาณ 2 ทุ่ม จำเลยขอลากลับบ้านด้วยความรีบร้อนผู้เสียหายขึ้นไปสำรวจทรัพย์สินที่ห้องนอนอีกครั้งหนึ่งจึงลงมาจำเลยถามว่ามีอะไรหรือขอลากลับ แล้วเรียกลูกสองคนไปขึ้นรถผู้เสียหายกับสามีตามไปที่รถบอกว่ายังกลับไม่ได้ขอเชิญไปคุยกันที่ห้องรับแขกก่อน เมื่อถึงห้องรับแขก ผู้เสียหายได้ขอร้องให้จำเลยคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่หายไป จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เอาไปสามีผู้เสียหายจึงโทรศัพท์แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร ร้อยตำรวจตรีศารทูล ประดิษฐ์ มาถึงก็ได้เกลี้ยกล่อมจำเลย จำเลยจึงหยิบพระเครื่อง คือ พระสมเด็จวัดระฆังพระกริ่งปวเรศร์ และพระสมเด็จบางขุนพรหมอย่างละ 1 องค์ ออกจากเสื้อชั้นในที่หน้าอกคืนให้ และพาร้อยตำรวจตรีศารทูลไปเอาทรัพย์ที่ลักบางส่วนในถุงพลาสติกในรถยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่ที่หน้าบ้านผู้เสียหาย นอกจากนี้ผู้เสียหายและนางสุภาณี แสงมณี ค้นพบตุ้มหูทองคำของผู้เสียหายในกระเป๋ากางเกงด้านซ้ายกับกิ๊บติดผมสเตนเลสของผู้เสียหายที่ศีรษะของจำเลยด้วย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยรับสารภาพทั้งนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำให้การรับสารภาพโจทก์มีผู้เสียหาย นายสุธรรม สามีผู้เสียหาย ร้อยตำรวจตรีศาลทูลผู้จับ เป็นพยานเบิกความเชื่อมโยงติดต่อกันเป็นลำดับของกลางที่ยึดได้จำเลยก็ยังไม่ทันนำออกจากบ้านผู้เสียหาย จำเลยจึงจำนนต่อพยานหลักฐานยอมรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยดีคดีฟังได้ชัดว่าจำเลยได้ลักทรัพย์ผู้เสียหายจริง ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์ขัดกันรับฟังไม่ได้นั้นเป็นพลความทั้งสิ้น ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335อนุ (3) และ (8) ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) บัญญัติว่า “โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจะต้องมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งกีดกั้นแล้วผ่านเข้าไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมิได้เปิดประตูห้องนอนของผู้เสียหายเพราะประตูห้องนอนเปิดอยู่แล้ว ในขณะนั้นประตูห้องนอนจึงมิได้มีสภาพเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์แล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) ด้วยนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)เท่านั้น เท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(8) ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share