คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบราคาสินค้าของโจทก์แล้วมีความเห็นให้เรียกอากรขาเข้ากรมศุลกากรและภาษีการค้าเพิ่มแล้วจำเลยก็ได้มีแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้ารวม10ฉบับแต่ละฉบับได้แจ้งผลการประเมินตามรายการภาษีอากรที่สำแดงภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มแล้วมีรายการแยกรายละเอียดเป็นยอดเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา18ประกอบด้วยมาตรา87(2)แล้วหากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา30เสียก่อนเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ กรณีที่ราคาอันแท้จริงของสินค้าในการซื้อขายหลายรายหรือในท้องตลาดหลายแห่งอาจไม่ตรงกันกรณีเช่นนี้ตามมาตรา9แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2503อธิบดีกรมศุลกากรย่อมมีอำนาจกำหนดราคาสินค้าในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ให้ถือราคานั้นเป็นเกณฑ์ในการประเมินอากรส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเฉพาะเครื่องสำอางโคซี่ที่โจทก์นำเข้าและสำแดงราคาคลาดเคลื่อนเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่ขัดต่อพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2503มาตรา9 (หมายเหตุวรรคแรกวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่7/2529)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งซื้อและนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโคซี่จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยโจทก์ได้แสดงรายการสินค้าและราคาสินค้าที่นำของเข้ามาโดยถูกต้องตามความเป็นจริงลงในใบขนสินค้าขาเข้าแล้วยื่นผ่านการตรวจสอบชำระภาษีอากรต่อพนักงานของจำเลยเป็นเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์พึงชำระเงินจริงจำนวน292,253.22 บาท และโจทก์ได้วางเงินประกันเพิ่มไว้อีกตามคำสั่งของพนักงานของจำเลยเป็นเงิน 127,800 บาท ต่อมาจำเลยได้ประเมินราคาผลิตภัณฑ์และเรียกให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มขึ้นอีกเป็นเงิน 72,066.86 บาท โจทก์ได้มีหนังสือโต้แย้งอุทธรณ์ราคาไปตั้งแต่แรกที่เกิดปัญหาคือในปี พ.ศ. 2522 แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้สั่งยกเลิกเพิกถอนการตีราคาประเมินอากรสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยสั่งให้ตีราคาประเมินอากรใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายและข้อเท็จจริง และให้สั่งยกเลิกเพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าทั้ง 10 ฉบับและให้ออกใบแจ้งการประเมินใหม่ให้ถูกต้องกับให้จำเลยคืนเงินประกันส่วนเกินจากภาษีอากรจำนวน127,800 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า แบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าทั้ง 10 ฉบับตามฟ้องเจ้าพนักงานของจำเลยระดับต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ตีราคาสินค้าได้ร่วมกันพิจารณากำหนดราคาประเมินสินค้านำเข้าของโจทก์โดยถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว สำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น จำเลยประเมินแทนกรมสรรพากร โจทก์จึงต้องฟ้องกรมสรรพากร ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำเครื่องสำอางโคซี่เข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้อง โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแสดงรายการการค้าโดยแจ้งราคา ซี.ไอ.เอฟ.กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นราคาสินค้ารวมค่าประกันและค่าขนส่งถึงกรุงเทพฯ ระบุว่าเสียอากรขาเข้าประเภทพิกัด 33.06 อัตราอากร 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้าและเสียภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาล แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ากรณีมีปัญหาเกี่วกับจำนวนค่าอากรสำหรับสินค้าที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากร จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันตามพระราชบัญญัติศุกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 และมาตรา 112 ต่อมาจำเลยเห็นว่า โจทก์ได้สำแดงราคาอันแท้จริงให้ท้องตลาดที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันที่จำต้องเสียภาษีเกิดขึ้นนั้นไม่ตรงต่อความเป็นจริง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงได้ประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเติมโดยเอาเงินประกันที่โจทก์วางไว้กับจำเลยแล้วได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ได้มีหนังสือปฏิเสธการชำระเงินเพิ่มนี้ และขอให้จำเลยยกเลิกคำสั่งงดผ่านพิธีการกับขอผ่อนผันพิธีการของจำเลยแต่จำเลยได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งกับข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่าเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบราคาสินค้าของโจทก์แล้วมีความเห็นให้เรียกอากรขาเข้าและภาษีการค้าเพิ่มแล้ว จำเลยก็ได้มีแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้ารวม 10 ฉบับ แต่ละฉบับได้แจ้งผลการประเมินตามรายการภาษีอากรที่สำแดง ภาษีอากรที่ประเมินเพิ่มแล้วมีรายการแยกรายละเอียดเป็นยอดเงินเพิ่มสำหรับอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าได้มีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) แล้ว หากโจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องคดีอันเป็นการใช้สิทธิอุทธณณ์ต่อศาลได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้กำหนดราคาสินค้าขึ้นใหม่และใช้ราคาที่กำหนดขึ้นนี้เป็นเกณฑ์คำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าโดยไม่ได้ปฏิบัติตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 เห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีที่ราคาอันแท้จริงของสินค้าในการซื้อขายหลายรายหรือในท้องตลาดหลายแห่งอาจไม่ตรงกัน กรณีเช่นนี้อธิบดีกรมศุลกากรย่อมมีอำนาจกำหนดราคาสินค้าในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ให้ถือราคานั้นเป็นเกณฑ์ในการประเมินอากร ส่วนข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเฉพาะเครื่องสำอางโคซี่ที่โจทก์นำเข้าและสำแดงราคาคลาดเคลื่อนเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ขัดต่อพระราชกำหนดพิกัดอัตราสุดท้าย พ.ศ. 2503มาตรา 9 แต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ราคาสินค้าที่จำเลยกำหนดเป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีอากรรายนี้ถูกต้องและชอบแล้ว พิพากษายืน

Share