คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลยโดยโจทก์ฟ้องทางแพ่งอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์และคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แม้ว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งก็ตามแต่ก็นำมารับฟังประกอบในคดีอาญานี้ได้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์แล้ว คดียังไม่พอฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานครอบครองทรัพย์ของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของแทนเนื่องจากขณะนั้นโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นคนสัญชาติไทย เพราะบิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าว ต่อมาโจทก์ติดต่อให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนพร้อมกับส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ จำเลยกลับอ้างว่าที่ดินเป็นของตน การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาที่ดินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของตนขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกและมาตรา 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 1337 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายต่อมาจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปขอออกโฉนดในนามของจำเลยเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7579 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอกตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 1337อันเป็นทรัพย์พิพาทในคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ซื้อมาจากนายณรงค์ คำโมนะเจ้าของที่ดินเดิมเมื่อปี 2517 ในราคา 15,000 บาท โดยมีนางปรานีคำโมนะ ภริยานายณรงค์มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์ให้จำเลยใส่ชื่อเป็นผู้รับโอนแทนโจทก์และมอบหมายให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตลอดมา ดังจะเห็นได้จากการที่โจทก์เป็นผู้ยึดถือหนังสือ น.ส.3 ฉบับผู้ถือและหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทไว้ จากข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าว จึงมีข้อที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จริงหรือไม่ ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลยในข้อนี้ปรากฏว่าสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1312/2535ของศาลชั้นต้นเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์และคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2538 แม้ว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งก็ตามแต่ก็นำมารับฟังประกอบในคดีอาญานี้ได้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพยานหลักฐานโจทก์แล้ว เห็นว่า คดียังไม่พอฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่อยู่ในฐานครอบครองทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์โดยทุจริตตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share