คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 4 ปี และฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องเป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน โจทก์ไม่อุทธรณ์ถือว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ การพิจารณาพิพากษาชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 บัญญัติว่า “คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาโดยเติมข้อความในวงเล็บในส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า “(ที่ถูก 6 ปี 9 เดือน)” ทำให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดเป็น จำคุก 6 ปี 9 เดือน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1760/2550 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 2 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1433/2550 ของศาลชั้นต้น ริบเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 772 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก คนละ 4 ปี และฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน (ที่ถูก 6 ปี 9 เดือน) นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1433/2550 ของศาลชั้นต้น ริบเมทแอมเฟตามีน และอาวุธปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง พันตำรวจโทณัฐนัยกับพวกร่วมกันให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ได้จำนวน 1 เม็ด ในราคา 500 บาท พันตำรวจโทณัฐนัยกับพวกจับกุมจำเลยที่1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด และอาวุธปืนลูกซองไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก กระสุนปืน 1 นัด คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเพียงพันตำรวจโทณัฐนัยและดาบตำรวจชนะเบิกความเพียงว่า ขณะสายลับไปหาข่าวที่หน้าบ้านเช่าดังกล่าว พยานทั้งสองเห็นสายลับเรียกคนในบ้านออกมา พยานเห็นจำเลยทั้งสองออกมายืนคุยกับสายลับที่หน้าบ้าน ต่อมาสายลับมาบอกพยานว่า ติดต่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสองในราคาเม็ดละ 500 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานบอกเล่าเมื่อโจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความสนับสนุน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงมี น้ำหนักน้อย ทั้งคำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ว่า อาวุธปืนของกลางไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของจำเลยที่ 2 นั้น คำให้การส่วนนี้ เป็นคำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 1 บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 1 จำหน่าย เป็นคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มีเพียงคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 เท่านั้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 1 จำหน่าย ซึ่งศาลจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ประกอบกับขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็มิได้อยู่กับ จำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ ทั้งโจทก์ก็มิได้นำเจ้าของบ้านเช่าที่เกิดเหตุมาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์มีเพียงคำรับในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบจึงจะมีน้ำหนักรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ อีกทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและยังมีข้อโต้เถียงว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การด้วยความสมัครใจหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ กรณีจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 4 ปี และฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องเป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน โจทก์ไม่อุทธรณ์ ถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ การพิจารณาพิพากษาชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 บัญญัติว่า “คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาโดยเติมข้อความในวงเล็บในส่วนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า “(ที่ถูก 6 ปี 9 เดือน)” ทำให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดเป็นจำคุก 6 ปี 9 เดือน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ดังกล่าว จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share