คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8406/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองของผู้เสียหายสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองที่อยู่ในมือนั้น จำเลยก็เพียงมุ่งหมายที่จะให้สร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองหลุดจากคอผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นเพียงแย่งการครอบครองเท่านั้น แต่หลังจากสร้อยคอทองคำและกระดูกเลี่ยมทองขาดตกลงที่พื้นแล้ว จำเลยก็ไม่ได้เข้ายึดถือเอาสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองอันจะเห็นได้ว่ามีการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปสำเร็จ จึงเป็นพยายามชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 339, 340 ตรี, 371 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับว่าได้ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยใช้ยานพาหนะแต่ไม่ได้ใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 มาตรา 339 วรรคสอง วรรคสาม, 340 ตรี และมาตรา 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กาย โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด จำคุก 18 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี รวมจำคุก 31 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 41 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ตลอดจนคำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 27 ปี 12 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุก 11 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 14 ปี 16 เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 ปี 26 เดือน 20 วัน ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกจำเลยเป็นผู้ขับสวนทางกับนางเตือนจิตร์ผู้เสียหายที่กำลังเดินจะกลับบ้าน จำเลยได้ให้พวกจำเลยขับรถจักรยานยนต์วกกลับไปหา จำเลยลงจากรถจักรยานยนต์เข้าไปหาผู้เสียหายและชกผู้เสียหายล้มลง จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองจากคอผู้เสียหายจนขาดตกลงที่พื้น ต่อมาชาวบ้านช่วยกันจับจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมาที่เกิดเหตุดำเนินคดี ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บแก้มข้างซ้ายบวมเขียวช้ำ มีรอยช้ำที่ข้อมือขวา รอยแดงที่คอด้านหลัง ใช้เวลารักษาประมาณ 1 สัปดาห์ ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุคือผู้เสียหายและนายชัพโชชัย โดยผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ที่คอ พยานไม่เห็นจำเลยเหนี่ยวไกปืน แต่เห็นจำเลยกระชากลำกล้องปืนและพูดว่าอย่าร้องถ้าร้องจะฆ่าให้ตาย นายชัพเบิกความว่า พยานนั่งดื่มกาแฟที่บ้านเพื่อนได้ยินเสียงผู้หญิงร้องขอความช่วยเหลือ พยานออกมาดูเห็นผู้เสียหายล้มจำเลยคร่อมตัวผู้เสียหายใช้อาวุธปืนจ่อไปที่ใบหน้าผู้เสียหาย ได้ยินเสียงดังแชะแล้วจำเลยกระชากลำกล้องปืน พยานเข้าไปแย่งอาวุธปืน ต่อมาเพื่อนของพยานมาช่วยแย่งอาวุธปืนได้ และมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างมาช่วยกันจับจำเลย พยานตรวจดูอาวุธปืน ดึงซองกระสุนปืนดู เห็นมีกระสุนปืน 2 นัด เห็นว่า คำของพยานโจทก์ทั้งสองแตกต่างกันในเรื่องที่จำเลยเหนี่ยวไกปืนหรือไม่ จึงเอาแน่นอนไม่ได้ว่าจำเลยเหนี่ยวไกปืนหรือไม่ นอกจากนี้ที่พยานทั้งสองเบิกความว่า เห็นจำเลยกระชากลำกล้องปืน หากเป็นดังที่พยานทั้งสองเบิกความแล้ว กระสุนปืนควรจะอยู่ในลำกล้องปืนจำนวน 1 นัด ด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกระสุนปืนอยู่ในลำกล้องปืน คงมีแต่กระสุนปืนอยู่ในซองกระสุนปืนเพียง 2 นัด เท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยอยู่ตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์สำเร็จตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ความผิดฐานชิงทรัพย์ คือการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนความผิดฐานลักทรัพย์คือการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาทุจริต การที่จะถือว่าเป็นการเอาไปจะต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือแย่งการครอบครองและพาทรัพย์เคลื่อนที่ ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยใช้อาวุธปืนตบผู้เสียหายจากนั้นกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองจากคอผู้เสียหายจนขาดตกลงที่พื้น โดยจำเลยไม่ได้หยิบเอาสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองที่ตกลงที่พื้นนั้นแต่อย่างใด เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองของผู้เสียหาย สร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองที่อยู่ในมือนั้น จำเลยก็เพียงมุ่งหมายที่จะให้สร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทองหลุดจากคอผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นเพียงแย่งการครอบครองเท่านั้น แต่หลังจากสร้อยคอทองคำและกระดูกเลี่ยมทองขาดตกลงที่พื้นแล้ว จำเลยก็ไม่ได้เข้ายึดถือเอาสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเลี่ยมทอง อันจะเห็นได้ว่ามีการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปแต่อย่างใดการกระทำดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปสำเร็จ ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยกระทำความผิดแล้วแต่ยังไม่อาจยึดถือครอบครองสร้อยคอทองคำพร้อมกระดูกเหลี่ยมทองนั้นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นพยายามชิงทรัพย์หาเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์สำเร็จดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ แก้มข้างซ้ายบวมเขียวช้ำ มีรอยช้ำที่ข้อมือขวา และรอยแดงที่คอด้านหลัง ใช้เวลารักษาประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ นอกจากนี้ความผิดฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและให้การรับสารภาพชั้นศาล แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลดโทษให้เพียงหนึ่งในสาม ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เหมาะสม เห็นควรแก้ไขในส่วนนี้โดยลดโทษให้กึ่งหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และรับสารภาพบางข้อหาในชั้นศาล ทั้งเบิกความในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ความผิดฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกฐานร่วมกันมีอาวุธปืน 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 6 ปี ริบอาวุธปืนของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share