คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งจำเลยได้ประกาศ เรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้า ขนาด 230 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรีไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสมุทรสาคร 2 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในแนวเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสายนี้คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 11,252,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่จำเลยจ่ายหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้นให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า เงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29693 ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 30 ไร่ ซึ่งเป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม จำเลยเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 6 ไร่ 45.70 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน สายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ โรงไฟฟ้าราชบุรี – สมุทรสาคร 4 ได้กำหนดให้ใช้ราคาประเมินตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2539 ถึง 2542 อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ เป็นเกณฑ์ และกำหนดประเภทที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ
1. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายเงินให้ร้อยละ 100 ของราคาประเมินที่ดินหรือราคาที่คณะกรรมการฯ กำหนด
2. ที่บ้าน จ่ายให้ร้อยละ 90
3. ที่สวน จ่ายให้ร้อยละ 70
4. ที่นา จ่ายให้ร้อยละ 50
คณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยแบ่งเป็นที่บ้าน 3 งาน 50.70 ตารางวา ที่สวน 5 ไร่ 95 ตารางวา ที่ตั้งเสาไฟฟ้า 13.50 ตารางวา ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาประเมินตามราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2542 อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ไร่ละ 150,000 บาท เมื่อเพิ่มอีกร้อยละ 50 เป็นไร่ละ 225,000 บาท จึงจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินประเภทที่บ้านร้อยละ 90 ที่สวนร้อยละ 70 และที่ตั้งเสาไฟฟ้าร้อยละ 100 รวมเป็นเงิน 1,002,448.13 บาท กับเงินค่าทดแทนต้นไม้ 284,100 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 1,286,548.13 บาท โจทก์ทั้งสองไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อจำเลยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มเป็น 20,000,000 บาท คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ มีมติยืนตามเงินค่าทดแทนทรัพย์สินตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอำเภอบ้านแพ้วเสนอ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเพิ่มเงินทดแทนค่าขาดประโยชน์จากต้นมะพร้าวที่ถูกตัด 125 ต้น เป็นเงิน 600,000 บาท และค่าเสื่อมราคาของที่ดินตารางวาละ 50 บาท เนื้อที่ 30 ไร่ เป็นเงิน 600,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสองอีก 1,200,000 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านเพิ่ม 697,552 บาท และขอค่าเสื่อมราคาของที่ดิน 30 ไร่ ราคาไร่ละ 240,000 บาท เป็นเงิน 7,200,000 บาท กับเงินค่าทดแทนต้นมะพร้าวน้ำหอม ต้นขนุนและต้นมะม่วงรวม 147 ต้น เป็นเงิน 2,067,900 บาท จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านควรเป็นเท่าใด เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น แต่พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนด้วยความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ เมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้ วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ซึ่งจำเลยได้ประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้า ขนาด 230 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรีไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสมุทรสาคร 2 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในแนวเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสายนี้คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบถึงราคาซื้อขายที่ดินแปลงใดเลย คงมีแต่ตัวโจทก์ทั้งสองกับนายประเวทย์และนายพรชัยน้องชายของโจทก์ทั้งสองเบิกความลอยๆ ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาซื้อขายและราคาประเมินไร่ละ 600,000 บาท โดยไม่มีเอกสารใดมาสนับสนุน โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ฝ่ายจำเลยกำหนดขึ้นไร่ละ 225,000 บาท เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้นต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดและต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ให้เห็นได้ดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ทั้งสภาพและที่ตั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงที่ดินที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมประเภทสวนผลไม้ แม้จะอยู่ติดทางดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างก็ตามแต่เป็นเพียงทางลูกรัง พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมานั้นไม่อาจทำให้เห็นได้ว่าในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันที่จำเลยประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรี ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยสมุทรสาคร 2 ในราชกิจจานุเบกษานั้น ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไร่ละ 600,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างอันเกินกว่าไร่ละ 225,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ฝ่ายจำเลยกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2542 อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ตามเอกสารหมาย ล.23 ซึ่งที่ดินของโจทก์มีราคาประเมินไร่ละ 150,000 บาท และปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 เป็นไร่ละ 225,000 บาท และเนื่องจากการเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นการขอใช้ที่ดินโดยมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่อยู่ในแนวเขตสายส่งไฟฟ้าให้แก่จำเลย ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสองอยู่ ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับที่จำเลยกำหนดอัตราถือจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามประเภทที่ดินว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าจ่ายให้ร้อยละ 100 ที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายให้ร้อยละ 70 ที่นาจ่ายให้ร้อยละ 50 ดังนั้น ที่จำเลยกำหนดให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาไร่ละ 225,000 บาท เป็นฐานในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าร้อยละ 100 ในส่วนที่เป็นที่บ้านร้อยละ 90 และในส่วนที่เป็นสวนร้อยละ 70 ของไร่ละ 225,000 บาท ตามลำดับนั้น เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยตามวันและอัตราที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนด กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share