แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้นจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อน แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้มีชื่อได้นำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์ ก่อนออกเช็คจำเลยและโจทก์หามีหนี้ต่อกันไม่ การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายหลังที่ออกเช็คจำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตาม ป.อ.มาตรา 2 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 4 กรรม จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าผู้มีชื่อซึ่งเป็นญาติของจำเลยได้นำเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อเช็คพิพาททั้ง4 ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1)เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” ซึ่งความผิดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อน แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏตามที่โจทก์นำสืบว่า ผู้มีชื่อได้นำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์ ก่อนออกเช็คจำเลยและโจทก์หามีหนี้ต่อกันไม่ การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ถึงหากการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.