คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตั้งตัวแทนเชิดเพื่อทำกิจการอันใด ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5150, 44768, 44769, 44770, 44771, 44772, 44773 และ 44774 คืนแก่โจทก์โดยปลอดจากภาระผูกพัน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5150, 44768, 44769, 44770, 44771, 44772, 44773 และ 44774 คืนแก่โจทก์โดยปลอดจากจำนองและภาระผูกพันใด ๆ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5150 และ 24667 เนื้อที่รวม 11 ไร่ 2 งานเศษ จากนางศิริ และนายสมนึก ในราคา 14,953,250 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 203,750 บาท ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2555 จำเลยชำระเงินส่วนที่เหลือและมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อจำเลย แล้วจำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารออมสิน สาขานครไทย เป็นเงิน 10,000,000 บาท และนำมาชำระค่าที่ดิน ในวันดังกล่าวโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลย 3,300,000 บาท ต่อมาจำเลยขอรังวัดรวมโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ 5150 แล้วรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยรวม 9 แปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 5150 จึงมีเนื้อที่คงเหลือเพียง 11 ไร่ 12.5/10 ตารางวา โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวรวม 9 ห้อง แล้วจำเลยขายที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น จากนั้นจำเลยนำเงินที่ได้ไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารออมสิน ต่อมาภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยรวม 8 แปลง คือ ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5150 และ 44768 ถึง 44774 และนำไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารออมสิน สาขานครไทย
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นางวิกานดาภริยาโจทก์ นายวรวัฒน์ นายสวัสดิภาพ และนางสาวเจนจิราลูกจ้างโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันสรุปความได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จัดสรรที่ดิน และก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปที่จังหวัดพิจิตร เมื่อปี 2553 โจทก์รับจ้างซ่อมแซมอาคารและหอประชุมโรงเรียนนครไทยพิทยาคม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และพบจำเลยซึ่งขณะนั้นเปิดร้านขายอาหารตามสั่งและร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์ จำเลยบอกโจทก์ว่า เจ้าของที่ดินบริเวณฝั่งตรงข้ามร้านอาหารของจำเลยจะขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ราคาประมาณ 15,000,000 บาท โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ขายให้แก่บุคคลทั่วไป แต่โจทก์เป็นคนต่างพื้นที่เกรงว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกับผู้ที่ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันในพื้นที่อำเภอนครไทย โจทก์จึงให้จำเลยติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทจากเจ้าของที่ดิน เมื่อซื้อที่ดินพิพาทแล้วโจทก์จะให้จำเลยจัดการในเรื่องเอกสารและติดต่อทำธุรกรรมกับบุคคลภายนอก รวมถึงการทำสัญญาซื้อขาย จดทะเบียนจำนอง การขอรังวัดที่ดินพิพาท การขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และทำสัญญาซื้อขายอาคารพาณิชย์กับบุคคลอื่น โดยโจทก์จะเป็นฝ่ายลงทุนออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เมื่อขายอาคารพาณิชย์ได้จะแบ่งปันผลกำไรให้จำเลยร้อยละ 30 นางชุติมา ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเขตพิจิตร และนายศุภศักดิ์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขานครไทย พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อปี 2555 โจทก์มาปรึกษานางชุติมาเรื่องการขอสินเชื่อไปลงทุนก่อสร้างอาคารที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก นางชุติมาแนะนำและติดต่อนายศุภศักดิ์ให้ดูแลเรื่องสินเชื่อแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์กับจำเลยมาพบนายศุภศักดิ์ที่ธนาคารออมสิน สาขานครไทย และขอกู้ยืมเงิน 10,000,000 บาท เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โดยใช้ที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน และนายศุภศักดิ์จึงทราบจากจำเลยว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่วนจำเลยเปิดร้านอาหารตามสั่งไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างมาก่อน นางณัฐชา นายสุวรรณ์ และนายนิติ พยานโจทก์ซึ่งรับติดตั้งกระจกอะลูมิเนียมและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในจังหวัดพิจิตรเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดพิจิตรและเคยสั่งซื้อสินค้า คืออิฐมวลเบา อะลูมิเนียม และเหล็กจากร้านค้าของพยานหลายครั้งไปใช้ก่อสร้างที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก นางเปรมฤดีพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทเบิกความว่า เมื่อปี 2555 พยานทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างหอพักและอาคารพาณิชย์กับจำเลยเพราะพยานเชื่อถือโจทก์ที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินพิพาท และจำเลยบอกกับพยานว่าจำเลยทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้าง โดยโจทก์รับผิดชอบเรื่องการก่อสร้าง ส่วนจำเลยรับผิดชอบในส่วนของการขายอาคารพาณิชย์เท่านั้น พยานจึงทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างกับจำเลย เพราะลำพังจำเลยไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอว่าจะทำการก่อสร้างอาคารหอพักและอาคารพาณิชย์ให้แก่พยานได้ เนื่องจากจำเลยทำธุรกิจเปิดร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ เท่านั้น ดังนี้ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีส่วนได้เสียในคดี ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีเพียงจำเลยเบิกความลอย ๆ อ้างว่าจำเลยลงทุนซื้อที่ดินพิพาทในราคาประมาณ 15,000,000 บาท จากเจ้าของที่ดินแล้วว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินพิพาท กับก่อสร้างอาคารหอพักกับอาคารพาณิชย์ให้นางเปรมฤดี ซึ่งปรากฏว่าบริษัทกรีนวิว เฮาส์ จำกัด ของจำเลยเพิ่งจดทะเบียนประกอบกิจการซื้อขายที่ดินและจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2556 ภายหลังจากจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและสัญญาก่อสร้างหอพักและอาคารพาณิชย์ให้แก่นางเปรมฤดี นอกจากนี้ นายบรรดาศักดิ์ พยานจำเลยเองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารออมสิน สาขานครไทย เบิกความว่า ขณะที่จำเลยมาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าว เป็นเงิน 10,000,000 บาท นั้น จำเลยมีเงินฝากหมุนเวียนในบัญชีเพียงประมาณ 300,000 บาท อีกทั้งนายทินกร พยานจำเลยเองเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ก่อนที่พยานซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลย จำเลยไม่เคยทำธุรกิจจัดสรรที่ดินขายมาก่อน จากเหตุผลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นและเหตุผลอื่น ๆ ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาโดยละเอียดแล้วนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์นำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารได้หรือไม่ จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน และการทำสัญญาจำนองเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยเช่นกัน เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงต่อศาลว่าโจทก์ได้ตั้งจำเลยให้เป็นตัวแทนของโจทก์ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเอกสารที่จำเลยนำมาแสดงต่อศาลว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่อาจนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารดังกล่าวได้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ กรณีตัวแทนเชิดไม่อยู่ในบังคับมาตรา 798 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การตั้งตัวแทนเพื่อทำกิจการอันใดจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด กรณีนี้โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ และการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลในความจริงว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์นั้นมิใช่การนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ประเด็นต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) จึงไม่เป็นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเกินคำขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share