คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้คัดค้านทั้งสองตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ และให้ริบเงินสดดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ แต่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1815/2544 ของศาลชั้นต้นคดีก่อน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าเงินสดของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวที่ต้องริบให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และ ป.วิ.อ. หรือไม่ เห็นได้ว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีอาญาดังกล่าวและคดีตามคำร้องคดีนี้แตกต่างกัน การพิจารณาคดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำกับคดีอาญาดังกล่าว
เงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นของผู้คัดค้านทั้งสองที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตและผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่อาจพิสูจน์หักล้างได้ จึงต้องริบเงินสดจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามความในมาตรา 29 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 550 เม็ด เงินสดจำนวน 116,600 บาท กับโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง พร้อมแบตเตอรี่จำนวน 1 ก้อน ต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1685/2542 และเนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลทั้งสอง ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำวินิจฉัยว่าเงินสดจำนวน 116,600 บาท กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่าจำนวน 1 เครื่องพร้อมแบตเตอรี่จำนวน 1 ก้อน เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านทั้งสอง จึงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าว และให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งริบเงินสดจำนวน 116,600 บาทกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่าจำนวน 1 เครื่อง พร้อมแบตเตอรี่จำนวน 1 ก้อนให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ขอให้ศาลมีคำสั่งริบมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด อีกทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังผู้คัดค้านทั้งสองทราบประกาศดังกล่าวโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินทั้งสองรายการตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านทั้งสองได้มาโดยสุจริตและมิใช่ทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินทั้งสองรายการแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบเงินสดจำนวน 116,6000 บาท (ที่ถูก 116,000 บาท) ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อแรกมีว่า คำร้องขอให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นการฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1815/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาไม่ริบเงินสดของกลางดังกล่าวและคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีว่าเงินสดของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้คัดค้านทั้งสองตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และให้ริบเงินสดดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ แต่ในคดีอาญาดังกล่าวปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าเงินสดของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ในคดีดังกล่าวที่ต้องริบเงินให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ จึงเห็นได้ว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีอาญาดังกล่าวและคดีตามคำร้องคดีนี้แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาคดีนี้จึงหาเป็นการฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำกับคดีอาญาดังกล่าวไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองต่อไปมีว่า เงินสดของกลางจำนวน 116,600 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่…ฯลฯ…พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าเงินสดจำนวน 116,600 บาท เป็นของผู้คัดค้านทั้งสองที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต และผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่อาจพิสูจน์หักล้างได้ จึงต้องริบเงินสดจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามความในมาตรา 29 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share