คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821
สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดคันที่พิพาทไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามงวดที่กำหนดไว้ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถขุดให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ติดตามยึดรถขุดคืนได้ในสภาพชำรุด โดยโจทก์ได้ประเมินราคาไว้เป็นเงิน 900,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 450,000 บาท ค่าขาดราคาจำนวน 597,030 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถขุดคืนจำนวน 75,500 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์จ่ายแทนไปจำนวน 97,936.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานของโจทก์ยึดรถขุดที่ให้เช่าซื้อคืนไปในสภาพดี มีราคาไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 อีก พนักงานของโจทก์ได้ทำหนังสือสละสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายมอบให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ไม่เกิน 75,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถขุดคืนก็ไม่เกิน 10,000 บาท โจทก์ไม่ได้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลยที่ 1 และดอกเบี้ยที่เรียกร้องมีอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดยี่ห้อฮิตาชิ รุ่น อีเอกซ์ 200 – 3 ไปจากโจทก์ในราคา 3,410,000 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 400,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระ 24 งวด งวดแรก 125,800 บาท งวดต่อไปงวดละ 125,400 บาท ชำระงวดแรกภายในวันที่ 27 มิถุนายน 2538 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 27 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ และมีข้อตกลงว่าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลา ไม่ชำระบางงวด และชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 11, 18, และ 19 ไม่ครบถ้วน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย นายสมชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายวัชราออกติดตามยึดรถขุดคืนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ต่อมานายวัชราได้มอบอำนาจช่วงให้นายชุบเป็นผู้ติดตามยึดรถดังกล่าวแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.ล.2 นายชุบยึดรถขุดคืนมาได้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 โดยนายชุบกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ป.ล.7 ว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 อีก
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการแรกมีว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ป.ล.7 ที่นายชุบทำกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาโดยสรุปว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ระบุให้นายวัชรามีอำนาจใช้สิทธิในการติดตามและเอาคืน ตลอดจนเข้าครอบครองทรัพย์สิน โดยไม่มีข้อความใดที่ระบุให้อำนาจนายวัชราไปทำการตกลงใด ๆ อันเป็นการสละสิทธิของโจทก์ ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็ไม่ได้ให้อำนาจนายวัชราที่จะมอบอำนาจช่วง การที่นายวัชรามอบอำนาจช่วงให้นายชุบไปดำเนินการแทนเป็นการกระทำเกินขอบอำนาจ ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.ล.2 ที่นายวัชรามอบอำนาจให้นายชุบไปยึดรถที่เช่าซื้อก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าให้นายชุบมีอำนาจตกลงใด ๆ อันเป็นการสละสิทธิของโจทก์นั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.ล.1 (ตรงกับ จ.1) ที่นายชุบมอบให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในวันที่นายชุบกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ป.ล.7 ได้ระบุข้อความอันเป็นขอบแห่งอำนาจของนายวัชราไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้นายวัชราผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจเฉพาะในการทวงถาม เจรจา บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ใช้สิทธิติดตามและเอาคืน เข้าครอบครองทรัพย์สินของผู้มอบอำนาจด้วยวิธีการอันชอบด้วยกฎหมาย รับมอบ ทำบันทึกการส่งมอบ ฯลฯ โดยไม่มีข้อความใดที่ระบุให้นายวัชรามีอำนาจมอบอำนาจช่วง การที่นายวัชรามอบอำนาจช่วงให้นายชุบไปดำเนินการแทนจึงเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบมา ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องรับผิดในการกระทำของนายชุบผู้รับมอบอำนาจจากนายวัชรา ประกอบกับตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ความว่า ก่อนทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ป.ล.7 นายชุบได้มอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.ล.1 และ ป.ล.2 ให้แก่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงย่อมทราบถึงขอบอำนาจของนายวัชราที่มีอยู่ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.ล.1 และย่อมจะทราบว่านายชุบไม่มีอำนาจในการเจรจาตกลงเพื่อระงับสิทธิของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการที่นายชุบทำข้อตกลงกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำภายในขอบอำนาจของนายชุบ อันจะทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เสมือนว่านายชุบเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำข้อตกลงดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 การที่นายชุบไปทำข้อตกลงกับตัวแทนของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 อีกนั้นจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของนายชุบไม่ผูกพันโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหาข้อนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมิได้วินิจฉัยไว้ แต่คู่ความได้สืบพยานในปัญหานี้เสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาก่อน สำหรับปัญหานี้ เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.12 ข้อ 12 กำหนดว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยมิต้องแจ้งล่วงหน้าก็ตาม แต่ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์จะยึดรถขุดคืนสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เลิกกัน แต่เมื่อต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 โจทก์ได้ยึดรถขุดคืน โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์เท่านั้นส่วนค่าเสียหายอื่นนั้นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้ เพราะกรณีนี้มิใช่เป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 และจำเลยที่ 1 ใช้ประโยชน์ในรถขุดคันพิพาทโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2540 ถึงวันที่โจทก์ยึดรถขุดคืนมาได้ดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถขุดคันดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และที่โจทก์ขอให้ชดใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 15 เดือน รวมเป็นเงิน 450,000 บาท นั้น เห็นว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ส่วนที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าขาดประโยชน์ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อได้ความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว จึงเห็นสมควรให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตามที่โจทก์ขอ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share