แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องทั้งสองไม่มีหลักฐานเอกสารแสดงการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย ถึงแม้ผู้ร้องที่ 1 จะได้โอนที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา ให้ผู้ร้องที่ 2 ไปแล้วก็เป็นเพียงการโอนไปซึ่งทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ในทรัพย์มรดกอื่นกลับไม่ปรากฏว่าผู้ร้องที่ 1 ได้จัดการประการใดหรือโอนให้จำเลยไป ดังนี้ เมื่อเงินฝากในบัญชีเงินฝากกึ่งหนึ่งยังเป็นของผู้ตาย ย่อมตกทอดไปยังจำเลยและผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย จำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในเงินฝากดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวของพนักงานบังคับคดี
ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดของผู้ร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าเงินฝากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินฝากดังกล่าวนั้น เป็นกรณีมีปัญหาว่า จะอายัดเงินฝากดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมีคำขอให้คืนเงินฝากดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสองด้วยแต่หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้เงินฝากดังกล่าวกลับคืนไปตามเดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ. แต่ผู้ร้องทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลแต่ละสำนวนในส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกและผู้ร้องที่ 1 ในสำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 1 เรียกผู้ร้องที่ 2 สำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 2 เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,531,799.31 บาท แก่โจทก์ โดยต้องผ่อนชำระทุกเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และต้องชำระให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีโดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระ นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้อง คือ เงินในบัญชีเงินฝากของนางสัมฤทธิ์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นมารดาของจำเลย อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเงินมาชำระหนี้
ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2544 ธนาคารดังกล่าวส่งเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวจำนวน 126,019 บาท ไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องในสำนวนแรกว่า สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกแก่ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นสามี และผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายไม่ได้ตกแก่จำเลยขอให้ถอนการอายัดทรัพย์ และคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 1
โจทก์ยื่นคำคัดค้านในสำนวนแรกว่า สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวมิได้ตกเป็นทรัพย์มรดกแก่ผู้ร้องที่ 1 แต่ตกเป็นทรัพย์มรดกแก่จำเลยและผู้ร้องที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ธนาคารดังกล่าวส่งเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวจำนวน 109,800.50 บาท ไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องในสำนวนที่สองว่า สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกแก่ผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ตกแก่จำเลย ขอให้ถอนการอายัดทรัพย์ และคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านในสำนวนที่สองว่า สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวมิได้เป็นทรัพย์มรดกตกแก่ผู้ร้องทั้งสอง แต่เป็นทรัพย์มรดกตกแก่จำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ จำเลยและผู้ร้องที่ 2 มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน คือ เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000,000 บาท ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1098 พร้อมอาคารพาณิชย์ เลขที่ 118/9 จำนวน 6 คูหา และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา เลขที่ 113/7 หลังจากผู้ตายถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และผู้ร้องที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวจำนวน 400,000 บาท ธนาคารดังกล่าวได้ส่งเงินฝากจากบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวรวม 2 ครั้ง จำนวน 126,019 บาท และ 109,800.50 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการอายัดหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสองเบิกความว่า ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยไปแล้ว คือ ที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 118/9 จำนวน 6 คูหา และเงินสดจำนวน 200,000 บาท ส่วนผู้ร้องที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายคือ ที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา เลขที่ 113/7 และเงินสดจำนวน 120,000 บาท สำหรับสิทธิเรียกร้องในเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวตกลงกันให้ตกเป็นของผู้ร้องทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพราะไม่ใช่เป็นของจำเลย ส่วนโจทก์มีนายทัพทองทนายโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เงินฝากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดทั้งสองรายการเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับในฐานะเป็นทายาทของผู้ตายและผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของผู้ตาย เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่มีหลักฐานเอกสารแสดงการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย ถึงแม้ผู้ร้องที่ 1 จะได้โอนที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา เลขที่ 113/7 ให้ผู้ร้องที่ 2 ไปแล้วก็เป็นเพียงการโอนไปซึ่งทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ในทรัพย์มรดกอื่นกลับไม่ปรากฏว่าผู้ร้องที่ 1 ได้จัดการประการใดหรือโอนให้จำเลยไป คำเบิกความของผู้ร้องทั้งสองที่อ้างว่าเงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายได้มีการแบ่งปันในระหว่างผู้ร้องทั้งสองและจำเลยได้ตกเป็นของผู้ร้องทั้งสองแล้ว โดยผู้ร้องทั้งสองไม่นำจำเลยมาสืบให้ปรากฏความจริง จึงรับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวกึ่งหนึ่งยังเป็นของผู้ตาย ย่อมตกทอดไปยังจำเลยและผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย จำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในเงินฝากดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวทั้งสองจำนวนของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองว่า การร้องขอให้เพิกถอนการอายัดผู้ร้องทั้งสองต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดของผู้ร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าเงินฝากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินฝากดังกล่าวนั้นเป็นกรณีมีปัญหาว่า จะอายัดเงินฝากดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมีคำขอให้คืนเงินฝากดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสองด้วย แต่หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้เงินฝากดังกล่าวกลับคืนไปตามเดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องทั้งสองเป็นคดีมีทุนทรัพย์และมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ผู้ร้องทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลแต่ละสำนวนในส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลแต่ละสำนวนในส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ