แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมทางเดิน ทางรถยนต์ สาธารณูปโภคแก่ที่ดินโจทก์และที่ดินโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่น จำเลยได้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างลงบนที่ดินภาระจำยอมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่ามิได้ทำให้โจทก์เสื่อมความสะดวกหรือทำให้การใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินของจำเลยลดลงไปแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่และขาดความสะดวกในการใช้ที่ดินภาระจำยอมได้เต็มที่อย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินตลอดทั้งแปลงซึ่งมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวตลอดแนวของจำเลย เป็นถนนทางเดินและทางรถยนต์ตลอดจนสาธารณูปโภคแก่ที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นเพื่อใช้เป็นถนนสำหรับเข้าออกที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่น สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่จำเลยสร้างในที่ดินของจำเลยซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้น สร้างขึ้นภายหลังจากมีการจดทะเบียนภาระจำยอมแล้ว และปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของจำเลยดังกล่าวล้วนแต่ล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินภาระจำยอมที่เป็นถนนทั้งสิ้น จนทำให้เส้นทางถนนดังกล่าวเหลือความกว้างเพียงประมาณ 2.78 เมตรเท่านั้น ซึ่งรถยนต์ย่อมแล่นสวนทางกันไม่ได้ โจทก์ต้องใช้รถตู้คอนเทรนเนอร์และรถกระบะขนส่งสินค้าเข้าออกที่ดินของโจทก์ สิ่งก่อสร้างของจำเลยจึงเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 เลขที่ดิน 791 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ตลอดจนสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 63111 เลขที่ดิน 1001 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นของโจทก์-และที่ดินโฉนดเลขที่ 52665 เลขที่ดิน 792 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 52666 เลขที่ดิน 793 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่น โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อประมาณปี 2541 จำเลยก่อสร้างแท่งคอนกรีตป้อมยามและโกดังเก็บของบนที่ดินภาระจำยอมดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวทั้งหมดและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินภาระจำยอม และทำที่ดินภาระจำยอมให้มีสภาพดังเดิม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินของจำเลยตามฟ้องไม่ได้ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวม โจทก์มิได้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 63111 เลขที่ดิน 1001 โฉนดเลขที่ 52665 เลขที่ดิน 792 และโฉนดเลขที่ 52666 เลขที่ดิน 793 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โกดังของจำเลยมิได้ทำให้โจทก์เสื่อมความสะดวกหรือทำให้การใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินของจำเลยลดลงไปแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนแท่งคอนกรีต ป้อมยามและโกดังเก็บของ พร้อมทั้งขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 เลขที่ดิน 791 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ และทำที่ดินดังกล่าวให้มีสภาพดังเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 63111 และเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 52665 และเลขที่ 52666 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 มีการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 ตกอยู่ในภาระจำยอมตลอดทั้งแปลงเรื่องทางเดินและทางรถยนต์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 52666 และโฉนดเลขที่ 52665 ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2535 มีการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 ตกอยู่ในภาระจำยอมตลอดทั้งแปลงเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทางเดินและทางรถยนต์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 63111 ตามบันทึกถ้อยคำ (ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม) เอกสารหมาย จ.5 (3 ฉบับ)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เข้าใจได้ว่าการที่จำเลยก่อสร้างโกดังเก็บของบนที่ดินของจำเลย ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่อย่างไรฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 52664 ตกอยู่ในภาระจำยอมทางเดิน ทางรถยนต์และสาธารณูปโภคแก่ที่ดินโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นตามโฉนดเลขที่ 63111 เลขที่ 52665 และเลขที่ 52666 จำเลยได้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างลงบนที่ดินภาระจำยอมเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่ ซึ่งจำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าโกดังของจำเลยมิได้ทำให้โจทก์เสื่อมความสะดวกหรือทำให้การใช้ประโยชน์ของโจทก์ในที่ดินของจำเลยลดลงไปแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางภาระจำยอมได้เต็มที่อย่างไรและขาดความสะดวกในการใช้ที่ดินภาระจำยอมอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการต่อไปว่า สิ่งก่อสร้างของจำเลยตามฟ้องทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า เมื่อประมาณปี 2541 จำเลยได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคือ แท่งคอนกรีต ป้อมยาม โกดังเก็บของในที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 52664 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ตลอดจนสาธารณูปโภคแก่ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 63111 และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมตามโฉนดเลขที่ 52665 และเลขที่ 52666 ที่ดินภาระจำยอมดังกล่าวโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกระหว่างที่ดินโจทก์กับถนนลาดกระบัง – วัดกิ่งแก้วเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวได้เต็มพื้นที่ โดยได้มีการตกลงความกว้างของทางเข้าออกประมาณ 10 เมตร อีกทั้งโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมโรงงานตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เพื่อประกอบอุตสาหกรรมหลอมโลหะนำขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศโดยการขนส่งจะใช้รถตู้คอนเทรนเนอร์ ส่วนจำเลยมีนายดำรงค์สิทธิ์กรรมการของจำเลยเบิกความว่า โกดังตามภาพถ่ายที่ 1 และที่ 2 เอกสารหมาย ล.1 บริษัทจำเลยได้ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2538 ป้อมยามหน้าประตูหมายเลข 1 และโรงจอดรถหมายเลข 4 ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 สร้างเมื่อปี 2538 หรือปี 2539 และป้อมยาม โกดังเก็บของ โรงจอดรถ ตามหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 6 ในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 ได้สร้างแนวเดียวกับเสาไฟฟ้า ส่วนแท่งคอนกรีตตามหมายเลข 7 และ 9 แต่เดิมเป็นทางเข้าออกโรงงานซึ่งสร้างมาพร้อมกับบริษัทจำเลย ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแท่งคอนกรีตเมื่อปี 2540 หรือปี 2541 ในการขนของของโจทก์นั้นโจทก์จะใช้รถตู้คอนเทรนเนอร์และรถกระบะซึ่งสามารถเข้าออกได้ตลอดเวลาบริษัทจำเลยไม่เคยห้ามแต่อย่างใด เห็นว่า จำเลยได้จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 52664 เป็นทางเดินและทางรถยนต์ตลอดจนสาธารณูปโภคแก่ที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นตามโฉนดเลขที่ 63111 เลขที่ 52665 และเลขที่ 52666 เมื่อปี 2533 และปี 2535 ส่วนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่จำเลยสร้างในที่ดินของจำเลยซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นสร้างเมื่อปี 2538 ถึงปี 2541 อันเป็นการสร้างขึ้นภายหลังจากมีการจดทะเบียนภาระจำยอมแล้ว นอกจากนี้ตามบันทึกถ้อยคำ (ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม) ระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 (ฉบับที่ 1 และที่ 2) ข้อ 1 ก็ระบุว่าที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 52664 ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ตลอดทั้งแปลง ประกอบกับแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ตกอยู่ในภาระจำยอมดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน 47 ตารางวา มีความกว้าง ประมาณ 10 เมตร ยาวตลอดแนว เมื่อพิจารณาจากสารบัญจดทะเบียนโฉนดเลขที่ 52664 เอกสารหมาย จ.1 บันทึกถ้อยคำ (ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอม) เอกสารหมาย จ.5 และแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 ประกอบกันแล้วฟังได้ว่าที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 52664 ตลอดทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมเป็นถนนสำหรับทางเดินและทางรถยนต์ตลอดจนสาธารณูปโภคแก่ที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นเพื่อใช้เป็นถนนสำหรับเข้าออกที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นสู่ถนนลาดกระบัง – วัดกิ่งแก้ว ซึ่งตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของจำเลยล้วนแต่ก่อสร้างล้ำเข้ามาในแนวเขตที่ดินภาระจำยอมที่เป็นถนนทั้งสิ้น โดยเฉพาะโรงจอดรถหมายเลข 4 และแท่งคอนกรีตหมายเลข 7 ล้ำเข้ามาจนทำให้เส้นทางถนนดังกล่าวเหลือความกว้างเพียงประมาณ 2.78 เมตรเท่านั้น ซึ่งรถยนต์ย่อมแล่นสวนทางกันไม่ได้ โจทก์ต้องใช้รถตู้คอนเทรนเนอร์และรถกระบะขนส่งสินค้าเข้าออกที่ดินของโจทก์ นายวิชัยพยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สิ่งปลูกสร้าง เช่น แท่งคอนกรีต โกดัง ขวางทางทำให้รถของบริษัทของโจทก์ไม่สามารถเข้าออกได้สะดวก จึงเป็นการเจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สิ่งก่อสร้างของจำเลยเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ที่จำเลยฎีกาว่า สิ่งที่ทำให้รถตู้คอนเทรนเนอร์แล่นเข้ามาไม่สะดวกมิได้เกิดจากสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแต่เกิดจากรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้นั้น เห็นว่า ที่ดินของจำเลยดังกล่าวตลอดทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมเป็นทางเดินและทางรถยนต์แก่ที่ดินของโจทก์โดยที่ดินของจำเลยมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ตลอดแนว หากจำเลยไม่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินภาระจำยอมจนเป็นเหตุให้ทางแคบลง รถยนต์ย่อมแล่นผ่านเข้าออกได้แม้จะมีรถยนต์จอดทิ้งไว้ในฝั่งใดฝั่งหนึ่งของทางก็ตาม ข้ออ้างตามฎีกาจำเลยไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ