คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ได้มีคำอธิบายความหมายของผู้เสียหายไว้ว่าหมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งข้อกล่าวหาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินโดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้นหมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง และเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้วโจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายได้ โดยที่ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมฯ เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหาจึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32, 33, 34, 35
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 โจทก์ที่ 2 กล่าวหาแพทย์หญิงยรรยงค์ ว่าเป็นแพทย์รักษาโรคที่ไม่มีมาตรฐานและความรู้ไม่ถึงขั้นที่จะรักษาคนไข้ให้ปลอดภัย นายแพทย์สันติไม่มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ เปลี่ยนแปลงแก้ไขเวชระเบียนให้เป็นเท็จ ส่อเจตนาทุจริต และนายแพทย์สุรพงษ์แถลงข่าวบิดเบือนความจริง บ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลพญาไท 1 ต่อจำเลยที่ 1 เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2534 โจทก์ที่ 2 ไปคลอดโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยมีแพทย์หญิงยรรยงค์เป็นสูติแพทย์ นายแพทย์สันติเป็นกุมารแพทย์และนายแพทย์สุรพงษ์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าว การคลอดและการรักษาในระยะแรกไม่ได้มาตรฐานทำให้โจทก์ที่ 1 มีหนองเป็นแอ่งที่สะโพกซ้ายและกระดูกติดเชื้อ การเจริญเติบโตของขาข้างซ้ายช้ากว่าขาข้างขวา ขอให้สอบสวนและให้ความเป็นธรรมแก่ครอบครัวโจทก์ที่ 2 วันที่ 26 ตุลาคม 2538 คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่สี่ ประกอบด้วยจำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 คณะกรรมการจำเลยที่ 1 ประกอบด้วยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่าคดีไม่มีมูล ให้ยกข้อกล่าวหา โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำเลยทั้งสามสิบสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อช่วยเหลือแพทย์ที่เป็นสมาชิกจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายจำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งโจทก์ทั้งสองฎีกามาหลายปัญหาด้วยกัน และศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาเรื่องผู้เสียหายขึ้นวินิจฉัยก่อน จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองได้รับการรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ถูกต้องตามหลักวิชาจนได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะกล่าวหาบุคคลดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอความเป็นธรรมและให้ลงโทษแพทย์ผู้เกี่ยวข้องแต่จำเลยทั้งสามสิบสามใช้ดุลพินิจยกข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ได้มีคำอธิบายความหมายของผู้เสียหายไว้ว่า หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งข้อกล่าวหาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้นหมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง และเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายได้ โดยที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหาจึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share