แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราว ให้จำเลยระงับการก่อสร้างชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อมาจำเลยฝ่าฝืน โจทก์ขอให้ออกหมายจับจำเลยมาคุมขังและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า จำเลยมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชั่วคราว ยกคำร้อง และต่อมาพิพากษายกฟ้องของโจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณา ถือว่าคำสั่งกำหนดวิธีการ(หมายห้ามชั่วคราว) เป็นอันยกเลิกไปในตัวการที่จะจับและจำขังจำเลยเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้ว ไม่อาจกระทำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตึกแถว ฯลฯ เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดแล้ว จำเลยรับรองสัญญาดังกล่าวเป็นการผูกพันกันโดยชอบ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๐ จำเลยผิดสัญญา เข้าทำการก่อสร้างตึกแถวในที่ดินดังกล่าว ขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปจากที่ดินนั้น
ระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวให้ระงับการก่อสร้างไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลไต่สวนแล้วจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยมิให้ทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินนั้นต่อไป
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าจำเลยสร้างอาคารขึ้นใหม่ในดินอีก ๒ แห่ง เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชั่วคราว ขอให้ออกหมายจับจำเลยมาคุมขัง และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วสั่งยกคำร้องโจทก์ และต่อมาได้พิจารณายกฟ้องคดีโจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลชั้นต้นเป็นอันยกเลิกไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๖๐ (๑) แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า แม้จำเลยจะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชั่วคราวก็ตาม แต่เมื่อคำพิจารณาของศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะ คำสั่งกำหนดวิธีการ (หมายห้ามชั่วคราว) เช่นว่านั้น ให้ถือว่าเป็นอันยกเลิกไปในตัว เพราะคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวที่ศาลมีคำสั่งไว้ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๐ (๑) ดังนั้น การที่จะจับและขังจำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามหมายห้ามชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้วจึงไม่อาจกระทำได้
พิพากษายืน