คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานอีก แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง มาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือกซึ่งเมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแม้จะอ้างคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาด้วย แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่าที่ได้รับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่การฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เช่นนี้ สภาพคำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม ทั้งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยสิทธิเดียวกับที่ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจนโจทก์เกษียณอายุ 55 ปี เป็นเวลา 86 เดือน เป็นเงิน 13,277,823 บาท ค่าตำแหน่ง 860,000 บาท เบี้ยกันดาร 111,800 บาท ค่าน้ำมันรถ 2,150,000 บาท ค่าโทรศัพท์ 344,000 บาท เงินโบนัส 2,165,377 บาท เงินบำเหน็จ 1,830,790 บาท ค่าชดเชย 1,830,790 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 366,158 บาท และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม ทั้งให้นับอายุงานต่อเนื่องเสมือนไม่มีการเลิกจ้าง หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ให้จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนี้รวมเป็นเงิน 25,936,738 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายที่หมิ่นประมาทโจทก์ 3,000,000 บาท ปิดประกาศขอโทษโจทก์ที่โรงงานจำเลยและโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วัน และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่โรงงานผลิตสินค้าจังหวัดระยองตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2541 ตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการอาวุโส มีหน้าที่ดูแลแผนกกิจการทั่วไปและงานรับส่งพนักงาน ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2557 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ใส่ใจและละทิ้งงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 1,830,790 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 286,823.71 บาท แก่โจทก์ ส่วนเงินอื่นๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาให้โจทก์นำคดีไปฟ้องเอง เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้ศาลแรงงานเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกได้ แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในกำหนด กลับฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างและฟ้องเกินสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เดิมจำเลยทำสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดวีเอส 2005 ให้จัดหารถรับส่งพนักงานของจำเลย เสียค่าใช้จ่ายในการจัดหารถประมาณเดือนละเจ็ดล้านบาท ต่อมาเดือนมีนาคม 2557 โจทก์เจรจาต่อรองกับห้างหุ้นส่วนจำกัด วีเอส 2005 เหลือค่าใช้จ่ายเดือนละห้าล้านห้าแสนบาท แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มด้วยตนเองในการไปเจรจาเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของจำเลย กลับปรากฏว่าผู้บริหารของจำเลยเป็นผู้ให้โจทก์ไปเจรจา จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้ ต่อมาจำเลยยกเลิกสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดวีเอส 2005 และทำสัญญากับผู้รับจ้างรายใหม่ซึ่งราคาลดลงจากเดิมกว่าครึ่งหนึ่ง ในระหว่างที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลการจัดรถรับส่งพนักงานจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดวีเอส 2005 เป็นจำนวนปีละกว่าสิบล้านบาท เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ย่อมเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยคิดว่าโจทก์ทุจริตหรือจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แต่ไม่พบหลักฐานการทุจริตของโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุสำคัญทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยเป็นคดีนี้อีกหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานนอกเหนือจากการใช้สิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงาน เมื่อลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งตามมาตรา 124 หากลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจะต้องนำคดีไปสู่ศาลโดยต้องฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานอีก แต่บทบัญญัติมาตรา 123 ถึงมาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งเมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว โดยใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางหาได้ไม่ คดีนี้โจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน จนกระทั่งพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ที่ 40/2558 เรื่อง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชย 1,830,790 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 286,823.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว แต่โจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้โจทก์จะอ้างคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวมาด้วย แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 366,158 บาท ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่ได้รับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 125 เช่นนี้ สภาพของคำฟ้องโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม ทั้งยังได้ความว่าจำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวด้วยแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อให้จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยสิทธิเดียวกันกับที่ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวแล้วได้อีก ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้องส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อต่อไปว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมจำเลยเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวีเอส 2005 ในการจัดหารถรับส่งพนักงานของจำเลยประมาณเดือนละเจ็ดล้านบาท ต่อมาโจทก์เจรจาต่อรองเหลือเดือนละห้าล้านห้าแสนบาท แต่ปรากฏว่าผู้บริหารของจำเลยเป็นผู้ริเริ่มให้โจทก์ไปเจรจา ต่อมาจำเลยยกเลิกสัญญาเดิมและทำสัญญากับผู้รับจ้างรายใหม่โดยราคาลดลงจากเดิมกว่าครึ่งหนึ่ง จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุผลจากความไม่ใส่ใจและละทิ้งงานของโจทก์ อันเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) การที่จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหารถให้แก่พนักงานในระหว่างโจทก์มีหน้าที่ดูแลรับส่งพนักงานปีละกว่าสิบล้านบาท เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ย่อมเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยจึงมีเหตุที่ไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป มีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นการโต้เถียงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้ว แต่จำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 2 ที่รับฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ไม่ใส่ใจงานและละทิ้งงาน รวมทั้งโจทก์ทำให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายจัดรถรับส่งพนักงานเป็นเงินจำนวนมากเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share