คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นบริษัทจำกัดโดยจำเลยที่ 3 เป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ตอกเสาเข็มฐานรากอาคารของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 4 ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท ได้ชำระไปบางส่วนยังค้างชำระอยู่ 320,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายที่ค้างชำระดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาพร้อมคำขอบังคับทั้งได้อ้างอิงสิทธิซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 3ได้เชิดจำเลยที่ 4 อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาคดีได้ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ 1 กับที่ 3 มิได้ตั้งจำเลยที่ 2 กับที่ 4 เป็นตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามปกติ แต่เป็นเรื่องตัวแทนเชิด จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทำแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 6/1จำเลยที่ 1 และที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ตอกเสาเข็มฐานรากเพื่อก่อสร้างอาคาร ทำให้บ้านเรือนโจทก์เสียหาย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1ได้เชิดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 4 ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน800,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะตัวแทนเชิดและในฐานะส่วนตัว จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์ไปแล้วจำนวน 480,000 บาท ยังค้างชำระอยู่อีก 320,000 บาทโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระแต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 330,000 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดจากต้นเงิน 320,000 บาทนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือเชิดจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ไปติดต่อเจรจาค่าเสียหายหรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโจทก์ทำขึ้นเอง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมทำสัญญาด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และไม่เคยถูกเชิดจากจำเลยที่ 1 ในการเจรจาและทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยเชิดจำเลยที่ 4 หรือตามบุคคลใดดำเนินกิจการแทนและทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน320,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่าปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 นั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ได้ตอกเสาเข็มฐานรากอาคารของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านโจทก์ได้รับความเสียหายต่อมาเมื่อวันที่ 21มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3ได้เชิดจำเลยที่ 4 ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 800,000 บาท ได้ชำระไปบางส่วนยังค้างชำระอยู่จำนวน 320,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายที่ค้างชำระดังกล่าว เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาพร้อมด้วยคำขอบังคับทั้งได้อ้างอิงสิทธิซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ 3ได้เชิดจำเลยที่ 4 อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาคดีได้ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ฝ่ายตรวจสอบอุบัติเหตุ เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 สำรวจความเสียหาย ต่อมาได้มีการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่าสัญญานั้นได้ทำกันทีสำนักงานบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัดจำเลยที่ 3 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 วิศวกรควบคุมการก่อสร้างของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ลูกจ้างฝ่ายตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 3 ได้ทำการเจรจาและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ณ สำนักงานของบริษัทจำเลยที่ 3 แสดงว่าบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เห็นชอบแล้ว มิฉะนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 4 จะมาเจรจาเรื่องค่าเสียหายและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ณ สำนักงานของจำเลยที่ 3 ได้อย่างไร ทั้งภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว เมื่อโจทก์มีหนังสือขอให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 ว่า ทนายผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับผิดและเมื่อบริษัทจำเลยที่ 3 แจ้งเรื่องความรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้บริษัทจำเลยที่ 1 ทราบปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 ว่า จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับผิดเช่นกัน เอกสารทั้ง 2 ฉบับจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ก็ด้วยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 รู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 เชิดตัวเขาเองออกเป็นตัวแทนของตนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ผู้สุจริต จำเลยที่ 1 ที่ 3จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาโต้แย้งว่าไม่ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทน สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น เห็นว่ากรณีตามที่โจทก์ฟ้องนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ตั้งตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามปกติแต่เป็นเรื่องตัวแทนเชิด จึงหาจำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทำแทนแต่อย่างใดไม่”
พิพากษายืน

Share