คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8374/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดเพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ โดยมีข้อความว่า เพื่อเป็นการค้ำประกันความเสียหายหรือความรับผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ค้ำประกันขอให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่เสียหายจริงแทนลูกจ้างจนหมดสิ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยกข้อกฎหมายใดๆ มากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดชอบ เช่นนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่มีข้อความชัดแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดกรณีจำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานเป็นเงิน 10 เท่าของค่าจ้างรายเดือนเป็นเงิน 195,000 บาท และค่าเสียหายจากกรณีโจทก์ขาดรายได้เป็นเงิน 1,000,000 บาท กับห้ามจำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของโจทก์หรือมีธุรกิจร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทอื่นที่อยู่ในลักษณะงานหรือประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันหรือเป็นการแข่งขันกับบริษัทโจทก์ตลอดไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 97,500 บาท และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินไม่เกิน 39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายถ่านหิน จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2550 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส มีการทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือตามสัญญาจ้างลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2551 มีการทำบันทึกเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาจ้าง และมีการตกลงทำสัญญาจ้างเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 โดยเพิ่มเติมข้อสัญญาเกี่ยวกับการห้ามลูกจ้างประกอบกิจการลักษณะเดียวกันหรือที่มีลักษณะแข่งขันกับนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการภายในขอบเขตประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง หากฝ่าฝืนหรือผิดสัญญาตกลงชดใช้เงินเป็นเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายแก่นายจ้าง 10 เท่าของค่าจ้างอัตราสุดท้ายหรือเป็นจำนวนเท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า นับแต่วันที่ฝ่าฝืนหรือผิดสัญญา พร้อมดอกเบี้ยจากการผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ลงชื่อยอมรับข้อตกลงไว้ในสัญญาฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่ได้ลงชื่อไว้ด้วย จำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 19,500 บาท และลาออกจากบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2554 จำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทเอ็นเนอร์จี เอิร์ด จำกัด (มหาชน) แล้วไปทำงานกับบริษัทซิง เฮง เส็ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริษัททั้งสองทำธุรกิจถ่านหินเช่นเดียวกับโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาจ้างฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานขายอาวุโส โดยเป็นหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการค้าขายถ่านหินของโจทก์ ไปทำงานกับนายจ้างอื่นใดที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบ ไม่เป็นการเกินสมควรหรือเอาเปรียบกันในการทำสัญญาอันจะเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ย่อมมีผลใช้บังคับกับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงชื่อรับทราบข้อตกลงดังกล่าวไว้ในสัญญาด้วยแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากบริษัทโจทก์แล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเอ็นเนอร์จี เอิร์ด จำกัด (มหาชน) และบริษัทซิง เฮง เส็ง จำกัด ตามลำดับ ซึ่งบริษัททั้งสองประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์ จึงเป็นการทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดเพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ระบุว่า “ข้าพเจ้านางสาวเกษสุนี (จำเลยที่ 2)… ผู้ค้ำประกัน ซึ่งได้ทำสัญญาฉบับนี้ไว้ให้แก่บริษัทเอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (โจทก์) เพื่อเป็นการค้ำประกันในความเสียหายหรือความรับผิดที่นายปริญญา (จำเลยที่ 1) ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ (โจทก์) ได้ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทฯ (โจทก์) ได้รับความเสียหาย หรือต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ค้ำประกันขอให้สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่เสียหายจริงแทนลูกจ้างจนหมดสิ้น โดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยกข้อกฎหมายใดๆ มากล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดชอบ” เช่นนี้ เป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดกรณีจำเลยที่ 1 พ้นสภาพจากความเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วไปทำงานกับนายจ้างอื่นที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ลาออกแล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจการค้าลักษณะอย่างเดียวกันหรือที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์ภายในกำหนด 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share