คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 162,000 บาท คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 270,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดเป็นเงิน 394,821.92 บาท กับให้ชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 25,000 บาท และให้ชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี จากต้นเงิน 419,821.92 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 150,000 บาท และค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 12,000 บาท รวมเป็นเงิน 162,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 162,000 บาท คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 270,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share