คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โดยบริษัท ว. เจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “VANS” มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อปัจจุบันยังไม่มีการจดทะเบียนอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ในประเทศไทย ดังนั้น ทั้งบริษัท อ. และโจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด (Exclusive Licensee) จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะมีอำนาจฟ้องผู้กระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของตนหรือที่ตนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาดตามมาตรา 68 วรรคสอง โจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท อ. กับโจทก์ โดยจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาดังกล่าวด้วย จำเลยจึงหาจำต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีในนามของตนเองเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44
การขายสินค้าโดยลดราคาของจำเลยเป็นเพียงการขายสินค้าที่ยังเหลือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น การขายสินค้าโดยลดราคาดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติในทางการค้า มิใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือผิดสัญญาใด ๆ ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ทำละเมิดจนถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,517,871 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินค่าขาดรายได้ในอัตราเดือนละ 600,000 บาท จนกว่าจำเลยจะหยุดทำละเมิด ให้ยึดหรืออายัดและมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งหมดรวมทั้งสินค้าของจำเลยที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่ผู้เดียวในประเทศไทย จึงเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย และมีอำนาจฟ้องจำเลยว่ากระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า “…บริษัทแวนส์ อิงค์. เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ใช้กับสินค้าประเภทรองเท้าโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และบริษัทวี เอฟ ฮ่องกง ลิมิเต็ด ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และทำสัญญาแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย…” จำเลยให้การว่า “แวนส์ อิงค์.” มิได้นำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน โจทก์มิใช่ผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายมิชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โดยบริษัทแวนส์ อิงค์. เจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า “VANS” มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แต่ปรากฏจากคำเบิกความนายสมชาย นักวิชาการ กรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ปัจจุบันยังไม่มีการจดทะเบียนอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ในประเทศไทย ดังนั้น ทั้งบริษัทวี เอฟ ฮ่องกง ลิมิเต็ด และโจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด (Exclusive Licensee) จากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะมีอำนาจฟ้องผู้กระทำละเมิดเครื่องหมายการค้าของตนหรือที่ตนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาดตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมิใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ดังที่วินิจฉัยไปข้างต้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า คำว่า “VANS” ที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทวี เอฟ ฮ่องกง ลิมิเต็ด กับโจทก์ โดยจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาดังกล่าวด้วย จำเลยจึงหาจำต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวไม่ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยยังฝ่าฝืนขายสินค้าหลังจากสัญญาตัวแทนระหว่างบริษัทวี เอฟ ฮ่องกง ลิมิเต็ด กับจำเลยสิ้นสุดลง ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาตัวแทนที่ทำไว้กับบริษัทวี เอฟ ฮ่องกง ลิมิเต็ด มิใช่ผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีในนามของตนเองเพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การที่จำเลยขายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” โดยลดราคาลงร้อยละ 40 ถึง 50 เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 หรือไม่ เห็นว่า ปรากฏจากคำเบิกความของนายสินทวี กรรมการบริษัทจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายเป็นสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อมาจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า สินค้าดังกล่าวจึงเป็นสินค้าที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิจำหน่ายสินค้าดังกล่าวได้ ส่วนที่จำเลยขายสินค้าโดยลดราคาลงร้อยละ 40 ถึง 50 นั้น นายสินทวีเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ส่วนที่ลดราคาลงประมาณร้อยละ 40 เป็นสินค้าที่มีตำหนิ หรือเป็นสินค้าที่จำเลยต้องการขายให้หมดไป เช่น เหลือ 1 หรือ 2 คู่ จะลดราคาลงถึงร้อยละ 70 ดังนั้น การขายสินค้าโดยลดราคาในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นเพียงการขายสินค้าที่ยังเหลือจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเท่านั้นการขายสินค้าโดยลดราคาดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติในทางการค้า มิใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VANS” ของโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือผิดสัญญาใด ๆ ต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ 5,000 บาทแทนจำเลย

Share