คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสนบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของ ฉ. ลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5
เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มติพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของคณะอนุกรรมการการแพทย์หน่วยที่ 3 (สำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี) ครั้งที่ 1/2553 ลงวันที่ 12 มกราคม 2553 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 240/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 กับบังคับให้จำเลยชำระเงิน 559,968.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 474,219 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยตามหนังสือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ที่ รง 0619/7857 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งวินิจฉัยตามมติพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของคณะอนุกรรมการการแพทย์หน่วยที่ 3 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 240/2554 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 กับให้จำเลยจ่ายคืนเงินทดแทนที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนายจ้างผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 นายเฉลิมชัย เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่ช่างซ่อมบำรุงอาคารสำนักงานของโจทก์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 นายเฉลิมชัยขึ้นไปตรวจดูรางน้ำที่มีน้ำขังอยู่บนหลังคาอาคารโรงซ่อมของโจทก์ แล้วประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากหลังคากระแทกพื้น นายเฉลิมชัยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระรามเก้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลใกล้ที่สุด แพทย์พบว่ากะโหลกศีรษะแตกยุบ เลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะ เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองฉีกขาดและเส้นประสาทหูข้างขวาชอกช้ำรุนแรงรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือดออก ภายหลังมีเส้นเลือดในสมองแตกซ้ำทำให้ต้องผ่าตัดอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ซึ่งจำเป็นต้องเอาชิ้นกะโหลกศีรษะที่มีการติดเชื้อที่บาดแผลออก ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2552 นายเฉลิมชัยออกจากโรงพยาบาลพระรามเก้าโดยแพทย์สั่งจ่ายยาแก้ปวดและวิตามิน หลังจากนั้นนายเฉลิมชัยสมัครเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของจำเลยและได้รับการผ่าตัดใส่กะโหลกศีรษะเทียมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 ปัจจุบันนายเฉลิมชัยสูญเสียการได้ยินของหูข้างขวาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนนายเฉลิมชัยไปก่อน คำนวณถึงวันที่ 11 กันยายน 2552 เป็นเงิน 474,219 บาท โจทก์ขอเบิกเงินดังกล่าวจากจำเลย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 หารืออนุกรรมการการแพทย์หน่วยที่ 3 แล้วมีมติพิจารณาค่ารักษาพยาบาลครั้งที่ 1/2553 วันที่ 12 มกราคม 2553 ว่าสมควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลของนายเฉลิมชัยได้เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน วันที่ 26 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยที่ 240/2554 ว่าการประสบอันตรายของนายเฉลิมชัยมีสิทธิได้ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 110,000 บาท ให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ทราบคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่มีการผ่าตัดนายเฉลิมชัย แล้วต่อมามีการผ่าตัดใส่กะโหลกศีรษะเทียมในภายหลังจากการผ่าตัดครั้งแรกเป็นเวลา 6 เดือน นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา จึงเป็นการประสบอันตรายในลักษณะบาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่ 30 วันติดต่อกัน ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 4 (3)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอรับเงินค่ารักษาพยาบาลเกินกว่า 200,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5 ได้หรือไม่ เห็นว่า กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสน โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อการพิจารณาออกคำสั่งของจำเลยต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการการแพทย์และตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 40 (2) กำหนดให้คณะกรรมการการแพทย์มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของนายเฉลิมชัยลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 4 (3) แล้ว เมื่อโจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปเป็นเงิน 474,219 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5 อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอคิดดอกเบี้ยนับจากวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาลนายเฉลิมชัยแทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินทดแทนแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share