คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ลูกหนี้โอนให้แก่ผู้คัดค้าน โดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โดย มิได้บรรยายคำร้องว่า ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็น ทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ ต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น และต้องได้ความว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ ทำนิติกรรมอันจะเป็นการให้เจ้าหนี้เสียเปรียบด้วยเมื่อลูกหนี้ โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านแล้ว ถึง3 ปี จึงจะมาเป็นลูกหนี้โจทก์ ขณะโอนโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้ ดังนั้น แม้ลูกหนี้ จะโอนที่ดินไปโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ตามผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิร้องขอให้ เพิกถอน.

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 3 โอนให้นายดุลย์บุตรชายโดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉล ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 113 หากไม่สามารถโอนกลับคืนได้ก็ให้นายดุลย์ใช้ราคาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงิน 37,218,440 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้ผู้คัดค้านโดยสุจริต ไม่เป็นการฉ้อฉลและคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำร้องเคลือบคลุม และผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้คัดค้านไม่ชัดแจ้งว่าจะให้ชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายข้อใด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำหน้าที่แทนเจ้าหนี้และเพื่อเจ้าหนี้ทุกรายในคดีล้มละลาย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านตามที่เห็นสมควร โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลหรือไม่ ตามคำร้องของผู้ร้องเห็นได้ชัดว่าได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่91255, 91256, 7449, 26491 และ 31046 แขวงคลองเตย เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3 โอนให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่มีค่าตอบแทน และเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่า ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น ซึ่งการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่าลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 และจำเลยที่ 3เพิ่งเป็นลูกหนี้โจทก์เมื่อปี 2528 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านแล้วถึง 3 ปี ขณะจำเลยที่ 3โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงยังไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านโดยไม่มีค่าตอบแทนก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share