คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง มิได้บังคับว่าผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็น จะต้องลงชื่อเมื่อใด ดังนั้น แม้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็นจะลงลายมือชื่อภายหลังที่ได้มี การมอบอำนาจกัน ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจเสียไป
ช. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอาการ บอกกล่าวบังคับจำนองโดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารตามที่กฎหมายบังคับให้ปิด ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และเป็นสิ่งที่ศาลรู้เองโจทก์ไม่ต้องนำสืบ
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุทิ้งฟ้อง เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้น มิได้สั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๔๖๘,๙๙๗.๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๓๑,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้กับโจทก์จริง แต่จำเลยไม่ยอมรับว่าลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงื่อนไขตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองขัดต่อความสงบเรียบร้อย โจทก์นำดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินแล้วนำมาคำนวณคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับชำระหนี้และบังคับจำนองเพราะนายชัยวัฒน์ รัตนวิภาพงษ์ ไม่มีอำนาจบอกกล่าวบังคับจำนอง เนื่องจากหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๔๖๘,๙๙๗.๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๓๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลย ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๖๒ และ ๒๐๔๑๖ ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการมอบอำนาจของนายชัยวัฒน์ รัตนวิภาพงษ์ เป็นการมอบเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๑ แต่ในหนังสือมอบอำนาจได้ระบุวันมอบอำนาจเป็น วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ ถือว่าทำขึ้นคนละวันกัน ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเห็นว่า ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ วรรคสอง บัญญัติว่า ” ถ้าคู่ความหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้” บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าในการมอบอำนาจแก่กันนั้น วันที่ลงในหนังสือมอบอำนาจจะต้องลงวันที่เดียวกันกับวันที่มีการมอบอำนาจกันจริง ทั้งโดยสภาพแห่งการมอบอำนาจ ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และพยานผู้รู้เห็นการมอบอำนาจก็ย่อมจะลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในภายหลัง ที่มีการมอบอำนาจกันแล้วได้ ไม่ถือเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนฎีกาว่านายชัยวัฒน์ มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ แต่โจทก์เพิ่งทำหนังสือหรือมอบอำนาจให้นายชัยวัฒน์ ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อนี้เห็นว่า แม้นายชัยวัฒน์ จะมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ วรรคหนึ่ง ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ฎีกาข้อต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญากู้เงินรับฟังพยานเอกสารมิได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ นำสืบว่าได้รับยกเว้นอากรแสตมป์ตามกฎหมาย เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นสิ่งที่ศาลรู้เอง โจทก์ไม่ต้องนำสืบศาลก็รับฟังพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ในชั้นรับคำฟ้องศาลชั้นต้นได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำส่งหมายเรียกให้จำเลยไว้ แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องแล้ว ข้อนี้เห็นว่าแม้จะปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ ศาลชั้นต้นรับคำฟ้อง หมายเรียกส่งสำเนาให้จำเลยโดยให้โจทก์นำส่งภายใน ๗ วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน ๑๐ วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ต่อมาศาลชั้นต้นขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลย และได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกดังกล่าวแก่จำเลยซึ่งเป็นเวลาเกิน ๑๐ วัน นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ ผู้ส่งหมายรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่าส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้ จำหน่ายคดีนี้เสีย ซึ่งอาจเป็นเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีมีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งหมายเรียกให้จำเลยตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในคำฟ้องแต่แรกได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำหน่ายคดี อันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
(ประเสริฐ เขียนนิลศิริ – สุเมธ ตังคจิวางกูร – ชวลิต ยอดเณร)

Share