คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

น้ำมันเบนซินที่บรรจุอยู่ในขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอน เมื่อจุดไฟจากเศษผ้าซึ่งเป็นสายชนวนแล้วขว้างปาไปจะทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้เป็นระเบิดเพลิงชนิดทำเอง แต่ไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน จึงไม่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน และไม่มีกำลังดันทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารอีกทั้งไม่ใช่เชื้อประทุหรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกับเชื้อประทุซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิด จึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิดตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 4(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบได้ร่วมกันมีขวดเบียร์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง2.5 นิ้ว สูง 10 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งขวด จำนวน 9 ขวดขวดน้ำพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว สูง 9 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งขวด จำนวน 2 ขวด ขวดพลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 6.5 นิ้ว หนา 2.5 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งขวด จำนวน 1 ขวด โดยขวดเบียร์และขวดพลาสติกดังกล่าวมีเศษผ้ายาวประมาณ 1 ฟุต สอดไว้ภายในขวดสำหรับเป็นสายชนวนจุดและใช้เทปพลาสติกพันปิดปากขวดไว้ อันเป็นวัตถุระเบิดนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและจำเลยทั้งสิบได้ร่วมกันย้ายวัตถุระเบิดดังกล่าวจากบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านบางกะปิ ถนนนวมินทร์ ไปยังบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ ถนนลาดพร้าว โดยไม่ได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 43, 55, 78, 80 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91ริบของกลางทั้งหมด

จำเลยทั้งสิบให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 7 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 9 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 9

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 43, 55, 78, 80 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ให้จำคุกคนละ 2 ปีฐานเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับคนละ 2,000 บาทรวมจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10ให้การในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสี่คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสิบได้พร้อมด้วยขวดเบียร์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 นิ้ว สูง 10 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งขวด จำนวน 9 ขวด ขวดน้ำพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง2.5 นิ้ว สูง 9 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งขวด จำนวน2 ขวด และถังแกลลอนพลาสติกแบบสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 6.5 นิ้ว หนา2.5 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ภายในบรรจุน้ำมันเบนซินประมาณครึ่งถัง โดยขวดเบียร์ขวดน้ำ และถังแกลลอนมีเศษผ้ายาวประมาณ 1 ฟุต สอดไว้ภายในขวดเป็นของกลาง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุระเบิดตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “วัตถุระเบิด” ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4(3)บัญญัติว่า “วัตถุระเบิด” คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารกับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อประทุต่าง ๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้ หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา ตามคำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “วัตถุระเบิด” ดังกล่าวน่าจะจำกัดความได้เป็น 3 กรณี คือ 1. เป็นวัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดันหรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้น 2. แต่ทั้งสองอย่างนี้จะต้องทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารเกิดขึ้นด้วย และ 3. หมายรวมถึงเชื้อประทุต่าง ๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา แต่คดีนี้โจทก์ไม่สามารถนำสืบอธิบายให้เห็นว่า น้ำมันเบนซินที่บรรจุอยู่ในขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอนของกลางนั้น เมื่อจุดไฟจากเศษผ้าซึ่งเป็นสายชนวนแล้ว จะทำให้เกิดการระเบิดส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันหรือไม่ และเป็นอันไม่ได้ความต่อไปด้วยว่ากำลังดันนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหารอย่างไรกลับได้ความจากรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.1 ตอนท้ายระบุว่า “ของกลางอยู่ในสภาพใช้การได้ เมื่อจุดแล้วขว้างปาไปจะทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้” และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทวิชัย กองปัญโญ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางคดีนี้ว่า เศษผ้าสอดไว้ที่ปากขวดของกลางทั้งสิ้นนั้นมีลักษณะเป็นชนวนจุดสำหรับขว้างปาออกไปเพื่อทำให้เกิดเพลิงไหม้ ของกลางอยู่ในสภาพที่สามารถใช้จุดระเบิดได้ทุกขวด โดยวิธีจุดที่ชนวนแล้วขว้างออกไปทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้และเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและทรัพย์สินเสียหายและพยานตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถามค้านว่า “ของกลางคดีนี้นั้นเป็นระเบิดเพลิงชนิดทำเองซึ่งคุณสมบัติของระเบิดเพลิงนั้นเมื่อจุดทำให้เกิดประทุจะทำให้เกิดการไหม้ไฟและลุกไหม้ ซึ่งอานุภาพของระเบิดเพลิงทางสะเก็ดนั้นไม่มี คือเมื่อปาขวดออกไปแล้วขวดแตก บริเวณนั้นจะเกิดไฟไหม้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันบรรจุไว้ในขวดมีมากเพียงใด จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ ระเบิดเพลิงชนิดนี้จะไม่แตกต่างกับนำเชื้อเพลิงหรือวัตถุไปวางไว้จุดไฟแล้ววิ่งออกมา การกระจายของระเบิดเพลิงเวลาแตกนั้นขึ้นอยู่กับแรงกระแทก กรณีที่ถูกวัตถุที่แข็งเช่นพื้นนั้นจะทำให้กระจายมากแต่หากถูกพื้นดินอาจจะทำให้ไม่เกิดการกระจายเลย” ดังนั้นเมื่อได้ความว่าวัตถุของกลางไม่มีสะเก็ดระเบิด มีแต่ทำให้เกิดไฟไหม้มากน้อยแล้วแต่การกระจายของน้ำมันเบนซิน จึงไม่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน และไม่มีกำลังดันทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร อีกทั้งลักษณะของวัตถุของกลางก็ไม่ใช่เชื้อประทุหรือวัตถุที่มีสภาพคล้ายคลึงกับเชื้อประทุซึ่งใช้หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดดังที่มาตรา 4(3) ให้คำวิเคราะห์ศัพท์ไว้ดังนั้น ขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอนที่บรรจุน้ำมันเบนซินของกลางจึงไม่ถือว่าเป็นวัตถุระเบิดตามความหมายของพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 4(3) การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 มีขวดเบียร์ ขวดน้ำ และถังแกลลอนที่บรรจุน้ำมันเบนซินของกลางไว้ในครอบครอง และเคลื่อนย้ายจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share