คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลของบริษัทโจทก์ชื่อผู้เอาประกันภัยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชื่อเรือที่ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยคือฟาร์อีสท์นาวีการเรียกร้องตามกรมธรรม์นี้จะชำระให้ที่กรุงเทพมหานครโดยโจทก์และตอนท้ายของกรมธรรม์ระบุชื่อโจทก์และผู้ที่ลงนามเพื่อและในนามผู้รับประกันภัยคือโจทก์นอกจากนั้นในแต่ละลายมือชื่อยังระบุตำแหน่งด้วยว่าลายมือชื่อแรกประธานกรรมการลายมือชื่อที่สองกรรมการผู้จัดการและลายมือชื่อที่สามผู้จัดการทางทะเลจึงเป็นการแสดงออกชัดเจนว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลและออกกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวหาใช่กรรมการโจทก์ออกกรมธรรม์และลงนามในฐานะส่วนตัวไม่การที่มิได้ประทับตราของโจทก์ในกรมธรรม์หาได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่และเมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอากรมธรรม์ดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์เป็นกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ผู้รับประกันภัยที่ออกให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัย กฎของเฮก(HAGUERULES) จะมีอยู่อย่างไรหรือไม่และจะมีผลบังคับแค่ไหนเพียงใดเป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายกล่าวอ้างจะต้องนำสืบเมื่อมิได้นำสืบให้ปรากฏรายละเอียดจึงไม่อาจรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าจำพวกหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 49 ลัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ส่งมาทางเรือเดินทะเล ชื่อฟาร์ อีสท์ นาวี จากเมืองแอนด์เวิปประเทศเบลเยี่ยม มายังจังหวัดระยองประเทศไทย ในวงเงิน15,483,797.99 บาท สินค้าดังกล่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อมาจากบริษัทเจค อัลส์ทอม เอส.เอ. ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อสินค้าลงเรือครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3ผู้ขนส่งสินค้ารายนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ขายสินค้า ครั้นเรือฟาร์ อัสท์ นาวี เดินทางมาถึงท่าเรือสัตหีบ ประเทศไทย จำเลยทั้งสามได้ส่งมอบสินค้าตามใบตราส่งให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าตามสัญญาเลขที่ EGAT 45/2-01-5089 จำนวน 3 ลัง เสียหายลังที่หนึ่งเป็นหม้อแบตเตอรี่-เซลล์ แตกหัก 20 ชิ้น ลังที่สองแตกหักเล็กน้อย ส่วนลังที่สามถังที่บรรจุอยู่ข้างในมีรอยรั่วคิดเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน 371,330.85 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 371,330.85 บาท เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2534 และรับช่วงสิทธิมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายนั้นจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 371,330.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องนางวไล ศิริพงษ์ และนายนิพัทธ พุกกะณะสุต ไม่ใช่กรรมการของโจทก์ตราประทับในใบแต่งทนายความไม่ใช่ตราประทับของโจทก์กรมธรรม์ประกันภัยมีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่ได้ลงชื่อผู้รับประกันภัยและไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับจ้างขนส่งสินค้าพิพาท เพียงแต่เป็นตัวแทนหรือทำพิธีการแทนผู้ขนส่งเท่านั้น ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม เพราะไม่ระบุว่าสินค้าที่เสียหายมีอะไรบ้างราคาเท่าไร นอกจากนี้โจทก์ได้รับความเสียหายเพียง100 ปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งผู้ออกใบตราส่งเสนอชำระค่าเสียหายให้ตามกฎของเฮกในอัตราสูงสุดจำนวน 300 ปอนด์สเตอร์ลิง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเกินกว่าจำนวนเงิน ดังกล่าว การที่โจทก์ชำระเงินไปตามฟ้องเป็นการชำระหนี้โดยไม่มีมูลที่จะต้องชำระจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 352,231 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,500 ฟรังก์ฝรั่งเศส แก่โจทก์โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยในวันที่ศาลนี้พิพากษา ถ้าในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายเงินตราก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนมีคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าบริษัทเจค อัลส์ทอม เอส.เอ. ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ซึ่งรับขนส่งสินค้าทางทะเลร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้าจำนวน 49 ลัง จากประเทศเบลเยี่ยมมายังท่าเรือสัตหีบประเทศไทย เพื่อส่งมอบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 1ได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือฟาร์ อีสท์ นาวีของจำเลยที่ 1มายังประเทศไทย เมื่อเรือมาถึงปรากฏว่าสินค้าจำพวกแบตเตอรี่เซลล์เสียหายคิดเป็นเงิน 60,500 ฟรังก์ฝรั่งเศส โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชำระค่าเสียหายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.4 มีเพียงลายมือชื่อกรรมการไม่มีตราบริษัทโจทก์ประทับอยู่ด้วย จึงมีผลเท่ากับกรรมการโจทก์ออกกรมธรรม์ในฐานะส่วนตัว มิใช่ในฐานะทำแทนโจทก์ ไม่อาจใช้ยันจำเลยที่ 1 ได้ และโจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันได้นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลของบริษัททิพยประกันภัย จำกัด โจทก์ ชื่อผู้เอาประกันภัยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชื่อเรือที่ขนส่งสินค้าที่เอาประกันภัยคือ ฟาร์ อีสท์ นาวี การเรียกร้องตามกรมธรรม์นี้(ถ้ามี) จะชำระให้ที่กรุงเทพมหานคร โดยบริษัททิพยประกันภัยจำกัด โจทก์ และตอนท้ายของกรมธรรม์ระบุชื่อบริษัทโจทก์และผู้ที่ลงนามเพื่อและในนามผู้รับประกันภัยคือโจทก์ นอกจากนั้นในแต่ละลายมือชื่อยังระบุตำแหน่งด้วยว่า ลายมือชื่อแรก ประธานกรรมการลายมือชื่อที่สอง กรรมการผู้จัดการ และลายมือชื่อที่สามผู้จัดการทางทะเลจึงเป็นการแสดงออกชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยทางทะเลและออกกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวหาใช่กรรมการโจทก์ออกกรมธรรม์และลงนามในฐานะส่วนตัวไม่การที่มิได้ประทับตราของโจทก์ในกรมธรรม์หาได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ และเมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอากรมธรรม์ดังกล่าวกรมธรรม์ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงมีผลสมบูรณ์เป็นกรมธรรม์ประกันภัยของโจทก์ผู้รับประกันภัยที่ออกให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้เอาประกันภัยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 อันเกี่ยวกับกฎของเฮก (HAGUE RULES)นั้น กฎดังกล่าวจะมีอยู่อย่างไรหรือไม่และจะมีผลบังคับแค่ไหนเพียงใด เป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายกล่าวอ้างคือจำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้ปรากฏรายละเอียด จึงไม่อาจรับฟังได้
พิพากษายืน

Share