แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 จะต้องเป็นกรณีที่ได้ใช้ทางดังกล่าว โดยปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินเพื่อให้ได้ทางภารจำยอม การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเสียเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าของที่ดินเดิม จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทในที่ดินโดยการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินแม้จะเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี ก็ไม่อาจอ้างว่าได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาทตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าทางเดินซึ่งอยู่ในที่ดินมีโฉนดของจำเลยทั้งสามเป็นทางภารจำยอมกับให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนต้นไม้ รั้วไม้และขนย้ายสิ่งของออกไปจากทางพิพาท หากจำเลยทั้งสามไม่รื้อถอนให้จำเลยทั้งสามออกค่าใช้จ่ายให้โจทก์รื้อถอนเองเป็นเงิน 50 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสั่งจ่าศาลไปทำแผนที่พิพาท โดยทั้งสองฝ่ายต่างนำชี้เขตที่ดินโฉนดของตน โจทก์นำชี้ว่าทางตามเส้นสีเขียวประและสีแดงประกว้างประมาณ 2.20 เมตร ยาวประมาณ 39 เมตรเศษในที่ดินโฉนดของจำเลยทั้งสามคือทางพิพาท ส่วนจำเลยนำชี้ว่าโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของที่ดินตามทางเส้นสีดำประหมายเลข 1 และ 2 ดังปรากฏตามแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 และกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทางตามเส้นสีเขียวประและสีแดงประในที่ดินมีโฉนดของจำเลยทั้งสามเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ทางพิพาทตามแนวเส้นสีเขียวประกับเส้นสีแดงประในแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 ซึ่งอยู่ในโฉนดเลขที่ 9456, 14796, 14797 ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี ของจำเลยทั้งสามเป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนต้นไม้ รั้วไม้ และขนย้ายสิ่งของออกไปจากทางพิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ทางพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า ที่ดินโฉนดที่ 9456 ของจำเลยที่ 1 และที่ 3เดิมมีนางเทียบ รุ่งแจ้ง กับนายเผียน จันทร์ปรุง สามีจำเลยที่ 1ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ขณะโจทก์ฟ้องคดีคนทั้งสองถึงแก่กรรมไปแล้วที่ดินส่วนของนายเผียนตกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ดินส่วนของนางเทียบตกเป็นของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ส่วนที่ดินโฉนดที่ 14796 และโฉนดที่ 14797เดิมเป็นของนางแห่ว จันทร์ปรุง นางแห่วได้จดทะเบียนโอนขายแก่นายเผียน จันทร์ปรุง และจำเลยที่ 2 คนละโฉนด เมื่อนายเผียนตายที่ดินโฉนดที่ 14796 จึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ภริยา ที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์ จำเลยทั้งสามเบิกความรับว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินทั้งสามโฉนดของจำเลยจริงคดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า ทางพิพาทตามเส้นสีเขียวประและสีแดงประในแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าว จึงฟังได้ว่าเดิมโจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามกว้างประมาณ 2 ศอก เดินผ่านเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่ถนนใหญ่ ต่อมาโจทก์ได้ขอขยายทางให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกในการใช้สอย โดยเสียค่าตอบแทนแก่เจ้าของที่ดินเดิมมานานเกินกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2529 จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมและเจ้าของที่ดินทั้งสามโฉนดได้ปิดกั้นไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาท โจทก์จึงได้ใช้ทางอื่นเข้าออกคดีนี้โจทก์กล่าวมาในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยทางอายุความ เพราะโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่ถนนใหญ่มาเกินกว่า 10 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ในลักษณะ 3 การได้สิทธิในทางภารจำยอมโดยอายุความจะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามโดยปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดิน เพื่อให้ได้ทางภารจำยอม การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเสียเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าของที่ดิน จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิในทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสาม โดยการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินแม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า10 ปี จนถึง พ.ศ. 2529 จำเลยที่ 1 ได้ปิดกั้นทางไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอีกต่อไป โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสามใน พ.ศ. 2531โจทก์ไม่อาจอ้างว่าได้สิทธิภารจำยอมในทางพิพาท ตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์