คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6205/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ ใช้อาวุธมีดฟันและแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองและทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน แม้ความผิด ฐานนี้จะยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องในคดีความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก 18 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 90 บาท รวมจำคุก18 ปี ปรับ 90 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี ปรับ 60 บาท เนื่องจากโทษปรับไม่ถึง 70 บาท กรณีไม่อาจนำมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ แต่หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันพิพากษาให้ยึดทรัพย์สินจำเลยใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้ยกฟ้องข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายสมชาย สุขไพบูลย์ ถูกคนร้ายใช้มีดปลายแหลมแทงทางด้านหลังทะลุช่องซี่โครงถูกปอดกลีบซ้ายส่วนล่างด้านหลังและถูกหัวใจเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ปรากฏตามรายงานการตรวจศพเอกสารท้ายฟ้องหมาย จ.5 คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่โจทก์มีนายมนตรี รักติกุล เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าพยานมีอาชีพขับรถยนต์สองแถวรับจ้าง ก่อนเกิดเหตุพยานจอดรถรอรับผู้โดยสารอยู่ที่บริเวณปากซอยเสนานิคม 2 โดยมีผู้ตายมาช่วยทำหน้าที่เก็บเงินค่าโดยสารให้ เมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกาจำเลยซึ่งมีอาชีพเดียวกับพยานได้ขับรถมาจอดที่หน้ารถของพยานแล้วจำเลยลงมาจากรถของตนเดินไปหาผู้ตายซึ่งอยู่ด้านหลังรถของพยาน ผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกันเกี่ยวกับเงินค่าคิวรถจากนั้นพยานเห็นจำเลยขับรถเข้าไปในซอยประมาณ 10 นาทีก็กลับออกมา โดยจำเลยขับรถกลับมาจอดที่เดิม จำเลยลงจากรถแล้วเดินไปหาผู้ตายซึ่งยังคงนั่งอยู่ตอนท้ายรถของพยานจำเลยเรียกผู้ตายให้ลงจากรถ เมื่อผู้ตายลงจากรถจำเลยได้ใช้มีดปลายแหลมซึ่งจำเลยนำติดตัวมาแทงผู้ตายถูกบริเวณชายโครงผู้ตายจะต่อสู้แต่ถูกจำเลยใช้เท้าถีบจนผู้ตายล้มฟุบลง แล้วจำเลยได้ขับรถหลบหนีไป เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายมนตรีประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาเป็นพยานเพียงปากเดียวทั้งตามคำเบิกความของประจักษ์พยานนี้ก็ขัดกับเหตุผลโดยนายมนตรีเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเรียกผู้ตายลงมาจากรถแล้วจำเลยได้ใช้มีดที่ถือซ่อนมาด้านหลังแทงผู้ตายที่ชายโครงทันทีจากคำเบิกความดังกล่าวลักษณะบาดแผลที่ผู้ตายได้รับน่าจะอยู่บริเวณชายโครงด้านหน้าร่างกายเพราะเป็นการแทงขณะที่ผู้ตายเดินเข้ามาหาจำเลย แต่จากรายงานการตรวจศพผู้ตายเอกสารหมาย จ.5 และภาพถ่ายศพผู้ตายท้ายบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.6 กลับปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลถูกแทงทางด้านหลังและที่ศีรษะของผู้ตายยังมีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบมีเลือดคั่งในสมองด้วย ดังนั้นคำเบิกความของประจักษ์พยานปากนี้จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง พฤติการณ์ของนายมนตรีหลังจากที่ผู้ตายถูกแทงแล้วก็มีพิรุธ เพราะนายมนตรี ซึ่งมีอาชีพขับรถยนต์รับจ้างอยู่บริเวณที่เกิดเหตุน่าจะรู้ว่าโรงพยาบาลใกล้กับที่เกิดเหตุตั้งอยู่ที่ใด ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดคือโรงพยาบาลเมโย ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเสนานิคม ห่างจากปากซอยเพียง 20 เมตร เท่านั้น ซึ่งนายมนตรีน่าจะนำผู้ตายไปที่โรงพยาบาลดังกล่าวได้แต่ไม่นำไป กลับนำผู้ตายไปทิ้งไว้ข้างทางในซอยตันโดยอ้างว่ากลัวจำเลยจะกลับมาทำร้ายซึ่งไม่มีเหตุผล เพราะหากนายมนตรีกลัวจำเลยแล้วก็ควรจะต้องหลบหนีไปเสียตั้งแต่เมื่อผู้ตายถูกแทงแล้ว ไม่น่าจะกลับมาเกี่ยวข้องขับรถพาผู้ตายออกไปจากที่เกิดเหตุอีก แม้โจทก์จะมีคำให้การชั้นสอบสวนของนายสมชาย รักติกุล เอกสารหมาย จ.7 ประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่เกิดเหตุมาเป็นพยานหลักฐานแต่โจทก์ก็ไม่อาจนำนายสมชายมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาของศาลได้ คำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.7 ของนายสมชายจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักในการรับฟังน้อยเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยอีกแล้ว ลำพังคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธมีดตามฟ้องฟันและแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตายในคดีนี้แล้ว ก็ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันแม้ความผิดฐานนี้จะยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และ 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานพาอาวุธไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share