คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไป ดังนั้น จำเลยย่อม มีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือ เมื่อออกจากงานได้ ระเบียบของจำเลย ข้อ 3 กำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งโดยคำนวณ ตามสูตร แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่ จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงิน ซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตาม กฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุ ด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน ถือได้ว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้วแต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ก็ถือ ไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ แต่อย่างใด ทั้งสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อ เลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยไม่ชำระ ถือได้ว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 600,000 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2511 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการโครงการพิเศษค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 มกราคม2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 18 เดือน ให้โจทก์ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เอกสารหมายจ.ล.1 ข้อ 3 แล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เอกสารหมายจ.ล.1 ข้อ 3 กำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง โดยคำนวณตามสูตรที่จะกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก ดังนั้น การจ่ายเงินตามระเบียบดังกล่าวย่อมมีความหมายว่าได้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมไปด้วยจำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.2 โดยแยกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน6 เดือน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน และเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อออกจากบริษัทฯ ไปอีก 11 เดือนจึงเป็นการจ่ายเงินถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม2541 ศาลแรงงานกลางอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง หากคู่ความฝ่ายใดไม่พอใจให้อุทธรณ์เฉพาะในข้อกฎหมายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งคดีนี้ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2541แต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2541ศาลแรงงานกลางอนุญาต โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2541 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2541จึงยื่นภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลแรงงานกลางขยายให้อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เอกสารหมาย จ.ล.1 มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยแตกต่างจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่าแม้การจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.1มีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เช่นระยะเวลาการทำงานเป็นต้น เงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตาม แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานมิได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไป ดังนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เอกสารหมายจ.ล.1 ได้ ปรากฏว่าระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่าพนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งโดยคำนวณตามสูตรที่จะกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆที่จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงินซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานเอกสารหมาย จ.ล.1 แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ตามเอกสารหมาย จ.ล.2ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่อย่างใดที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดตั้งแต่วันเลิกจ้างนั้น เห็นว่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 จำเลยไม่ชำระ กรณีถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share