แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ด. ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมยื่นคำคัดค้านในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญขอให้มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกเป็นการใช้สิทธิ์อันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวซึ่งศาลจังหวัดอำนาจเจริญมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมต้องผูกพันถึงโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวมการที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับพวกหรือของจำเลยย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
ด. ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของกองมรดก เป็นการที่ ด. ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกย่อมมีอำนาจทำได้โดยลำพัง การที่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวมฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยอาศัยข้ออ้างที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกจึงเป็นเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ กับนางสุนีย์ บิดามารดาของโจทก์ทั้งห้ามิได้จดทะเบียนสมรสกัน นายประสิทธิ์ จดทะเบียนสมรสกับนางดาวเรือง ภริยาอีกคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2536 นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 กับนางดาวเรืองเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ร่วมกัน ก่อนถึงแก่ความตาย นายประสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 17 ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นมรดก โดยมีโจทก์ทั้งห้า นางดาวเรืองและบุตรของนางดาวเรือง อันเกิดแต่นายประสิทธิ์เป็นเจ้าของรวม จำเลยเป็นน้าของนายประสิทธิ์ได้ขอนายประสิทธิ์อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว แต่ต่อมาจำเลยกลับยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญขอให้มีคำสั่งว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครอง ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ มีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำร้องขอ โดยโจทก์ทั้งห้าไม่ทราบ โจทก์ทั้งห้าได้แจ้งให้จำเลยเพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินและหยุดเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 17 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งห้าและเป็นมรดกของนายประสิทธิ์ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลที่มีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17 ให้ตกเป็นของจำเลยและเพิกถอนรายการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยในโฉนดที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การว่า นางดาวเรือง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1404/2538 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 ของศาลจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ร้อง และนางดาวเรือง เป็นผู้คัดค้าน ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 ของศาลชั้นต้น สำหรับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 นั้น ต่อมาศาลจังหวัดอำนาจเจริญได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 628/2539 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีทั้งสองคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ ยืนยาว และนางดาวเรือง ยืนยาว เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2536 และศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 กับนางดาวเรืองเป็นผู้จัดการมรดกของนายประสิทธิ์ร่วมกันเดิมที่ดินพิพาทมีชื่อนายประสิทธิ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นโจทก์ที่ 2 และนางดาวเรืองในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2537 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ ขอให้มีคำสั่งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมีนางดาวเรืองยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายประสิทธิ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 ของศาลจังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 นางดาวเรืองได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของกองมรดก จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1404/2538 และคู่ความท้ากันให้ถือเอาผลของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 ของศาลจังหวัดอำนาจเจริญเป็นข้อแพ้ชนะ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลของคดีดังกล่าว ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 ซึ่งผูกติดกับสำนวนคดีนี้ ในส่วนของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 นั้น ต่อมาศาลจังหวัดอำนาจเจริญมีคำพิพากษาว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 628/2539 คดีถึงที่สุดแล้วตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เอกสารหมาย ล. 2 ครั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งห้าและเป็นมรดกของนายประสิทธิ์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 628/2539 ของศาลจังหวัดอำนาจเจริญ และเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางดาวเรืองซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมยื่นคำคัดค้านเข้าไปในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2537 ของศาลจังหวัดอำนาจเจริญ อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดกนั้น เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 628/2539 ซึ่งศาลจังหวัดอำนาจเจริญ มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมต้องผูกพันถึงโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของรวม การที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับพวกเท่ากับขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งห้ากับพวกหรือของจำเลยย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และการที่นางดาวเรืองฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของกองมรดกและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอื่น ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 นั้น เป็นการที่นางดาวเรืองในฐานะเจ้าของรวมใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ย่อมมีอำนาจทำได้โดยลำพัง โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มูลฟ้องของโจทก์ทั้งห้าคดีนี้อาศัยข้ออ้างที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของกองมรดก คำฟ้องที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องขึ้นมาใหม่ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1476/2538 เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งห้าอีกต่อไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ