แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลจากท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์มาท่าเรือแหลมฉบัง และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้ามาที่ลานพักสินค้าลาดกระบังเพื่อรอส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นตามนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534
ตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่วและมิได้ถูกจัดเก็บในสถานที่หรือสภาพที่จะปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน จึงเป็นเหตุให้มีน้ำซึมไหลผ่านรูรั่วด้านบนลงไปในตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกน้ำเสียหายก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบสินค้า ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายของสินค้าพิพาทต้องถูกจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่ากันตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นฉนวนทองแดงบรรจุอยู่ในหีบห่อ 12 หีบห่อ หีบห่อละ 50 ชิ้น วางซ้อนกันและห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลและพลาสติกใสรัดด้วยสายรัดพลาสติกวางอยู่บนพัลเล็ตโดยห่อหุ้มรวมกันเป็นห่อเดียว ไม่สามารถเห็นสินค้าแต่ละชิ้นจากภายนอกได้ การขนส่งห่อดังกล่าวสามารถขนส่งไปได้โดยลำพัง ประกอบกับตามใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ให้เข้าใจได้ชัดเจน กรณีย่อมถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าว 1 หีบห่อ เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ 1 พัลเล็ต เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือแต่ละชิ้นที่อยู่ในหีบห่อเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง
เนื่องจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความเสียหายของสินค้าพิพาทถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 284,653.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 274,124.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 230,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องต้องไม่เกิน 10,529.06 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า บริษัทเคซีอี เทคโนโลยี่ จำกัด ซึ่งอยู่ในประเทศไทยซื้อสินค้าจากบริษัทอิโซล่า เอเชีย แปซิฟิค (สิงคโปร์) จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายหรือสูญเสียแก่สินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งไว้ต่อโจทก์ในวงเงินทุนประกันภัย 17,189,341.13 บาท ผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าจากประเทศสิงคโปร์มาส่งให้ผู้รับตราส่งที่ลานพักสินค้าลาดกระบัง โดยผู้ขายบรรจุสินค้าในตู้สินค้ารวม 2 ตู้ จำเลยที่ 1 รับมอบตู้สินค้าแล้วออกใบตราส่งเป็นหลักฐาน จากนั้นนำตู้สินค้าบรรทุกลงเรือยันตระภูมิ เมื่อเรือยันตระภูมิมาถึงท่าเรือแหลมฉบังวันที่ 15 สิงหาคม 2546 มีการขนถ่ายตู้สินค้าต่อไปที่ลานพักตู้สินค้าลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตัวแทนของผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตู้สินค้าแล้วนำไปเปิดที่สถานที่ของตน ปรากฏว่าสินค้าบางส่วนได้รับความเสียหายเนื่องจากเปียกน้ำ จึงได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์มอบหมายให้บริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์ จำกัด ไปสำรวจความเสียหายของสินค้าและตู้สินค้าและได้ส่งตัวอย่างสินค้าที่เสียหายไปตรวจพบว่าความเสียหายน่าจะเกิดจากน้ำจืด โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไปแล้วเป็นเงิน 274,124.38 บาท เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลโดยเรือยันตระภูมิจากท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์มาท่าเรือแหลมฉบัง และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้ามาที่ลานพักสินค้าลาดกระบังเพื่อรอส่งมอบให้ผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่น ตามนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังว่า ตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่วและตู้สินค้ามิได้ถูกจัดเก็บในสถานที่หรือสภาพที่จะปลอดภัยต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในจึงเป็นเหตุให้มีน้ำซึมไหลผ่านรูรั่วด้านบนลงไปในตู้สินค้าทำให้สินค้าพิพาทเปียกน้ำเสียหายก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบสินค้า ฟังได้ว่าเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทเพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาสินค้านั้นไว้ในใบตราส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายของสินค้าพิพาทต้องถูกจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาท แล้วแต่ว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่ากัน ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นฉนวนทองแดงขนาด 1080 x 1240 มิลลิเมตร บรรจุอยู่ในหีบห่อ 12 หีบห่อ หีบห่อละ 50 ชิ้น วางซ้อนกันและห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลและพลาสติกใสรัดด้วยสายรัดพลาสติกวางอยู่บนพัลเล็ต ลักษณะการห่อหุ้มแผ่นฉนวนทองแดงทั้ง 12 หีบห่อ เป็นห่อเดียวกันโดยไม่สามารถเห็นสินค้าแต่ละชิ้นจากภายนอกได้ ทั้งการขนส่งห่อดังกล่าวสามารถขนส่งไปได้โดยลำพัง ประกอบกับตามใบตราส่งก็ไม่ได้ระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ให้เข้าใจได้ชัดเจน กรณีย่อมถือว่าสินค้าพิพาทดังกล่าว 1 หีบห่อ เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ 1 พัลเล็ต เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือแต่ละชิ้นที่อยู่ในหีบห่อเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง เมื่อรวม 12 กล่อง แล้ว ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมจำกัดไว้เพียง 120,000 บาท
เนื่องจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความเสียหายของสินค้าพิพาทถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำพิพากษามีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ