คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2463

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่าจำเลยปลูกโรงล้อมรั้วล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทย์ ตำบลคลองกะแชง จังหวัดเพ็ชร์บุรี ขอให้ขับไล่แลห้ามจำเลยอย่าให้เกี่ยวข้องกีดขวางในที่ดินของโจทย์ต่อไป ฯ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ได้ทำในที่ดินของจำเลย ฯ
ศาลจังหวัดเพ็ชร์บุรีพิจารณาได้ความว่า ที่ดินของโจทย์แลของจำเลยมีเขตร์ติดต่อกัน ที่วิวาทรายนี้เปนที่ของจำเลยได้ปกครองปักเสาไม้แก่นล้อมรั้วมาช้านานประมาณ ๒๐ ปีเศษ โจทย์จำเลยทั้ง ๒ ฝ่ายต่างได้รับโฉนดเปนหลักฐานสำหรับที่ดินของตนโฉนดของโจทย์รับเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ โฉนดของจำเลยรับเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ ที่ดินซึ่งวิวาทแก่งแย่งกันนี้ ได้ความปรากฎในเวลาพิจารณาว่าอยู่ในโฉนดของโจทย์ ศาลจังหวัดเพ็ชร์บุรีจึงพิพากษาอ้างพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินศก ๑๒๗ มาตรา ๓๕ และคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๒/๒๔๕๖ กับที่ ๒๒๐/๑๓๑ ว่าจำเลยหมดกรรมสิทธิในที่รายนี้ ให้จำเลยแพ้คดีโจทย์แลขับไล่จำเลยตามฟ้อง ฯ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดเพ็ชร์บุรีอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๒/๒๔๕๖ แลที่ ๓๑๙-๓๒๐ /๒๔๕๙ เปนบรรทัดฐาน ฯ
จำเลยทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ฯ
กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแและประชุมปฤกษาเห็นว่าในคดีนี้โจทย์ได้ทำคำแก้ฎีกายืนยันว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา เพราะคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๐๐๐ บาทศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลเดิม และฎีกาของจำเลยไม่มีผู้รับรองตามกฎหมาย ดังนี้ ก่อนที่จะพิจารณาตามรูปคดีที่พิภาษกัน กรรมการศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะกล่าวเสียให้ส้นสงสัยของโจทย์ว่า ฎีกาของจำเลยเปนปัญหาด้วยข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาได้โดยไม่ต้องมีผู้รับรองตามพระราชบัญญัติลักษณฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ.๒๔๖๑ มาตรา ๘ เพราะฉนั้นข้อที่โจทย์คัดค้านฎีกาของจำเลยจึงเปนอันฟังไม่ได้ ฯ
ต่อไปจะได้พิจารณาถึงมูลคดีที่โจทย์จำเลยพิภาษกันอันเปนปัญหาสำคัญในข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาต้องฟังตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัย (ตามพระราชบัญญัติลักษณฎีกาอุทธรณ์ที่กล่าวข้างต้น) แลในเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลจังหวัดเพ็ชร์บุรี ดังที่บรรยายไว้ข้างบนแล้วข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น มีหลักฐานพยานสนับสนุนอย่างแข็งแรงแน่นอน เปนอันไม่มีข้อสงสัยว่าจะเปนไปอย่างอื่น ฯ
ปัญหากฎหมายในเรื่องนี้ กล่าวสั้น ๆ ก็คือว่า โจทย์จำเลยมีที่ดินติดต่อกันต่างได้ปกครองเปนเขตต์ตลอดมาช้านาน แต่ในเวลาพิจารณาได้ความว่า เขตร์ที่ดินตามแผนที่หลังโฉนดนั้นผิดจากความเปนจริงที่คู่ความได้ปกครองที่ดินของตนมา ดังนี้จะวินิจฉัยให้เปนไปตามความจริง ฤาให้เปนไปตามโฉนดที่ผิดจากความจริง ปัญหาข้อนี้ไม่ใช่เปนปัญหาที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เปนเรื่องที่ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยมาแล้ว เพราะฉนั้นข้อพิจารณาในชั้นต้นแห่งคดีนี้ก็คือว่า ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยเปนบรรทัดฐานมาอย่างไร การที่จะตรวจคำพิพากษาฎีกาบรรทัดฐานเหล่านี้ ควรต้องแยกความเข้าใจเสียให้ชัดเจนว่า เรื่องนี้เปนเรื่องที่พิภาษกันด้วยเขตร์ที่ดินตามผนที่หลังโฉนด และไม่ใช่เปนเรื่องชื่อผู้เปนเจ้าของในโฉนด เพราะฉนั้นต้องแยกคำพิพากษาฎีกาทั้งหลายที่ว่าด้วยเรื่องชื่อโฉนดนั้นออกเสียงอย่าให้ปะปนกัน และต้องพิจารณาเฉภาะเรื่องเขตร์ที่ดินตามแผนที่หลังโฉนด ฯ
คดีบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยมาในเรื่องเขตร์ที่ดินนี้แบ่งเปน ๒ พวก โดยรูปคดีต่างกันเปน ๒ อย่าง ในพวกที่ ๑ ศาลฎีกาได้พิพากษาให้เปนไปตามโฉนด ได้แก่คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๐/๑๓๑ ที่ ๑๒๑๒/๒๔๕๖ และที่ ๓๑๙-๓๒๐/๒๔๕๙ ซึ่งศาลล่างยกขึ้นเปนบรรทัดฐานแห่งคดีนี้ แต่คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๐/๑๓๑ และที่ ๑๒๑๒/๒๔๕๖ นั้น มีเหตุพิเศษว่า เมื่อเจ้าพนักงานไปไต่สวนจะออกโฉนดสำหรับที่ดิน โจทย์จำเลยได้นำเจ้าพนักงานชี้เขตร์ที่ของตน ฤาลงชื่อรับรองในใบไต่สวน แล้วเจ้าพนักงานได้ออกโฉนดแผนที่ให้ตามใบใต่สวนนั้น ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙-๓๒๐/๒๔๕๙ ถึงแม้จะไม่ได้แสดงเหตุผลโดยเลอียดลออก็ได้อ้างถึงคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๐/๑๓๑ และที่ ๑๒๑๒/๒๔๕๖ จึงควรต้องถือว่าได้วินิจฉัยด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน เพราะฉนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า คำพิพากษาฎีกา ๓ ฉบับซึ่งกล่าวมาแล้ว เปนเรื่องที่มีเหตุผลพิเศษเฉภาะเรื่องซึ่งลงรอยกับข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ยังไม่สนิธอีกพวก ๑ มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๖-๒๕๗/๒๔๕๘ แลที่ ๗๖/๒๔๕๙ ซึ่งได้วินิจฉัยในเรื่องโฉนดแผนที่ซึ่งผิดจากความเปนจริง บังคับคดีให้เจ้าของที่ดินคงเปนเจ้าของตามเดิม แลมีให้เปนไปตามโฉนดคำพิพากษาเหล่านี้มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับคดีเรื่องนี้ กล่าวคือทั้ง ๒ ฝ่ายได้ปกครองที่ดินมาตามเขตร์เดิมซึ่งเปนที่ดินของตนโดยความจริง ไม่มีเหตุผลพิเศษดังที่ปรากฎในฎีกาตอนที่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ก่อนโจทย์เองก็มิได้ทราบว่าโฉนดที่ดินของตนเหลื่อมล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย พึ่งจะได้มาทราบว่าเปนดังนั้นต่อเมื่อก่อนเกิดคดี ฯ
เมื่อได้เทียบข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ กับเหตุผลที่ปรากฎในคำพิพากษาฎีกา ๒ พวกที่กล่าวข้างบนแล้ว เห็นได้ว่าคดีนี้ใกล้เคียงกับเรื่องที่ได้กล่าวตอนหลังมากว่าเรื่องที่กล่าวตอนต้นเพราะฉนั้นถ้าจะอ้างถึงบรรทัดฐานแล้ว คดีฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักกว่าฝ่ายโจทย์มาก แต่ถึงแม้จะพิจารณาตามรูปคดีโดยเฉภาะก็ไม่มีทางที่ควรจะให้โจทย์ได้รับผลผิดจากความเปนจริง เพราะโจทย์เองก็รู้แน่ว่าเขตร์ที่ดินของตนมีอยู่เพียงไร โจทย์เบิกความก็รับว่า ไม่ทราบว่าที่วิวาทอยู่ในโฉนดของโจทย์ เพราะฉนั้นจึงไม่น่าจะเปนไปได้ว่า โจทย์จำเลยจะได้ชี้เขตร์ที่ของตนให้เจ้าพนักงาน ดังที่ปรากฎในแผนที่หลังโฉนด เหตุที่เปนมาลงเปนด้วยแผนที่หลังโฉนดผิดโดยแน่แท้ การที่โจทย์จะร้องอ้างเอากรรมสิทธิในที่ดินโดยแผนที่หลังโฉนดผิดนั้นไม่มีหลักอันควรฟัง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ที่รายนี้เปนของโจทย์ แลให้ขับไล่จำเลยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น ฯ
จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างและยกฟ้องโจทย์เสีย ให้โจทย์เสียค่าธรรมเนียมแทนจำเลยทุกศาลแลค่าทนาย ๓ ศาล ๑๐๐ บาทให้จำเลยด้วย ฯ
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓

Share