แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ส. มิได้เป็นพนักงานของโจทก์แต่เป็นลูกจ้างของบริษัท บ. ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารและบริการทรัพย์สินสินเชื่อที่โจทก์ซื้อมาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และ ส. มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้การที่ ส. ตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่า ส. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร จึงสามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การที่ ส. เบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วง จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ปิดประกาศขายสินทรัพย์ที่หน้าที่ทำการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับไม่น้อยกว่า 3 วัน รวมทั้งได้ประกาศขายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์จึงชอบด้วยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง และถือเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อ. ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่จำเลยยอมผูกพันตนต่อบริษัทเงินทุน ธ. เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท อ. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยย่อมเกิดมีขึ้นเมื่อบริษัท อ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ บริษัทเงินทุน ธ. ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้แต่เวลานั้น จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดก็ต่อเมื่อหนี้ของบริษัท อ. ระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680, 686 และ 698 การที่บริษัท อ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ทำให้บริษัทดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิด คงมีผลทำให้ความรับผิดของบริษัทดังกล่าวลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยลดลงตามจำนวนที่บริษัทดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
บริษัทเงินทุน ธ. เป็นสถาบันการเงินจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (2) ไม่ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 654 บริษัทเงินทุน ธ. จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุน ธ. มาตามสัญญาขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทดังกล่าวมีต่อบริษัท อ. และจำเลย แล้วโจทก์ใช้สิทธิของบริษัทเงินทุน ธ. ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวม มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ดำเนินกิจการแทน โดยบริษัทดังกล่าวมีนางวิวรรณ และนายสุริพล กรรมการบริษัทมอบอำนาจให้นางสาวแคทเธอรีน หรือ นายริชาร์ด คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายปกรณ์ หรือนางปัทมา คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน และมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ นายริชาร์ดและนางปัทมามอบอำนาจช่วงให้นายกฤตยา ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์ซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจอันเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อสัญญากู้ ตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ขายเพื่อชำระบัญชี จึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่ซื้อ รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) มีอยู่เหนือจำเลยอันเนื่องมาจากบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาวงเงินสินเชื่อประเภทกู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,000,000 บาท และออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท เป็นหลักฐาน และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดกับบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) อย่างลูกหนี้ร่วม บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินกู้จำนวน 20,000,000 บาท จากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยสัญญาจะคืนเงินให้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากผิดนัดยอมให้ปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 30 ต่อปี แต่บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงโจทก์แจ้งการโอนสิทธิและบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยทราบแล้วเพิกเฉยจำเลยต้องชำระเงิน 20,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,997,808.21 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,997,808.21 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 38,997,808.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปีของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นนิติบุคคล ไม่ได้มอบอำนาจให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุนรวม หรือเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ รวมถึงไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ นางสาวชนชม นายสหเทพ นางสาวบุญมา นายกฤตยา นางสาวปาริชาติ นางสาวกาญจนา ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินประเภทสินเชื่อ (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) และไม่ได้เป็นผู้รับโอนสิทธิหรือรับช่วงสิทธิในสัญญาค้ำประกันจากบริษัทเงินทุกนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) การโอนสิทธิดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบ หากการโอนชอบก็ผูกพันเฉพาะหนี้ประธานเท่านั้น บริษัทเงินทุกเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) มิได้เป็นนิติบุคคล มิได้ประกอบธุรกิจด้านเงินทุนและหลักทรัพย์และมิได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจดังกล่าวบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ขอสินเชื่อประเภทเงินกู้และรับเงินกู้จำนวน 20,000,000 บาท ทั้งไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและยินยอมเสียดอกเบี้ยตามฟ้อง จำเลยไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ประมูลหนี้มาจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในมูบค่าไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าหนี้ แต่โจทก์นำมูลหนี้เต็มตามยอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงมาเรียกร้องตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะเป็นการค้ากำไรเกินควร จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้หรือหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องใดๆ จากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) และโจทก์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมไทย บรรจุภัณฑ์ จำกัด และโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 21,195,068.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21.25 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ในคดีหมายเลขแดงที่ 470/2543 ของศาลล้มละลายกลางเพียงใดก็ให้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้น้อยลงเพียงนั้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมจัดตั้งตามพระราชบัญญติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขระบบสถาบันการเงินโดยการรับซื้อและรับโอนสินธิต่างๆ ของบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนรวม โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดการกองทุน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) และให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นำทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ออกขายเพื่อชำระบัญชี โจทก์ได้รับโอนทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) มาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 โจทก์ทำสัญญาซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญากู้ และสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ถูกระงับกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 โจทก์รับซื้อสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาขายสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจดังกล่าวหมายความถึงเงินกู้หรือการให้สินเชื่ออย่างอื่นตามสัญญากู้ สัญญาสินเชื่อ สัญญาขายลดตั๋ว ตราสารหนี้ สัญญาสินเชื่อค้ำประกันของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ โดยสัญญาขายดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ปิดทำการจำหน่าย คือวันที่ 30 เมษายน 2542 บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จำนวน 20,000,000 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยสัญญาว่าจะชำระเงินคืนในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 และตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ปรับอัตราร้อยละ 30 ต่อปี มีนายวีรพงษ์ นายวีรชัย และจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จึงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ภายหลังจากที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดได้คิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดร้อยละ 30 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไป ต่อมานายวีรพงษ์และนายวีรชัยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ถูกฟ้องขอให้ล้มละลายและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวและอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผน โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จำเลยเป็นกรรมการบริษัทผู้บริหารแผน ตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวตกลงชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวนหนี้ รวมถึงหนี้ของโจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายสนอง พยานโจทก์มิใช่ผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวกับการมอบอำนาจ และไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์หรือพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด คำเบิกความของนายสนองที่ว่าโจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 เมื่อโจทก์มิได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการมอบอำนาจมาเบิกความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้นายสนองจะไม่ได้เป็นพนักงานของโจทก์หรือพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด แต่นายสนองก็เป็นลูกจ้างของบริษัทบางกอกแคปปิตอลอันไลแอนซ์ จำกัด ซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารและบริการสินทรัพย์สินเชื่อที่โจทก์ซื้อมาจากองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และนายสนองมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้การที่นายสนองตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่านายสนองเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร จึงสามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้ การที่นายสนองเบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงตามเอกสรหมาย จ.6 และ จ.7 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 (2) ประกอบกับโจทก์มีนายกฤตยา ลูกจ้างของบริษัทบางกอกแคปปิตอล อันไลแอนซ์ จำกัด ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับมูลหนี้ รวมทั้งมูลหนี้ของจำเลยในคดีนี้ และเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นพยานเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวแคทเธอรีนลิน หรือนายริชาร์ด คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายปกรณ์ หรือนางปัทมา คนใดคนหนึ่ง โดยผู้รับมอบอำนาจสามารถมอบอำนาจช่วงได้ และผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้นายกฤตยาดำเนินคดีนี้ นายกฤตยาตรวจสอบมูลหนี้ของจำเลยจากเอกสารต่างๆ ถือว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร การที่นายกฤตยารับรองความถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.6 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ทั้งนายกฤตยาเป็นผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวกับการมอบอำนาจช่วงมาด้วยตนเองโดยตรง จึงเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับการมอบอำนาจช่วง คำเบิกความของนายกฤตยาเกี่ยวกับการมอบอำนาจช่วงจึงมีน้ำหนักรับฟังได้จำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธว่า การมอบอำนาจและการมอบอำนาจช่วงกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยหาได้นำสืบพยานหลักฐานให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างของตนไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด มอบอำนาจให้นางสาวแคทเธอรีน หรือนายริชาร์ด ใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับนายปกรณ์ หรือนางปัทมา คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน โดยผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวสามารถมอบอำนาจช่วงได้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 ต่อมานายริชาร์ด และนางปัทมา ลงลายมือชื่อมอบอำนาจช่วงให้นายกฤตยา ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.7 การมอบอำนาจและการมอบอำนาจช่วงดังกล่าวกระทำโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การโอนสิทธิเรียกร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีนายสนองเป็นพยานเบิกความประกอบสัญญาขายสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจพร้อมคำแปลและหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 ว่า เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ระงับการดำเนินกิจการและให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินนำทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ออกขายเพื่อดำเนินการชำระบัญชี ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 เอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 โจทก์ซื้อสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยมอบอำนาจให้นางวิวรรณธาราหิรัญโชติ เป็นผู้ลงนามในสัญญากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) สัญญาดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ปิดจำหน่ายคือวันที่ 30 เมษายน 2542 สัญญาขายสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจดังกล่าวให้หมายความรวมถึง เงินกู้ หรือการให้สินเชื่ออย่างอื่นตามสัญญากู้สัญญาสินเชื่อ สัญญาขายลดตั๋ว ตราสารนี้ สัญญาสินเชื่อค้ำประกันของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ด้วย ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 30 ทวิ การโอนไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ และให้ถือว่าประกาศขายขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นการบอกกล่าวการโอนสินทรัพย์ให้แก่ลูกหนี้แล้ว องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ปิดประกาศขายสินทรัพย์ที่หน้าที่ทำการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 3 วัน รวมทั้งได้ประกาศขายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ส่วนจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไม่เคยทราบการขายทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 มาก่อน และไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ โดย จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ปิดประกาศขายสินทรัพย์ที่หน้าที่ทำการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 3 วัน รวมทั้งได้ประกาศขายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์จริง การดำเนินการดังกล่าวจึงชอบด้วยพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 30 ทวิ วรรคหนึ่ง และถือเป็นการบอกกล่าวการโอนทรัพย์สินแก่ลูกหนี้แล้วโจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน รวมทั้งมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ประมูลซื้อหนี้มาร้อยละ 20 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกหนี้เป็นจำนวนเงินเต็มร้อยละ 100 รวมดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย จึงเป็นการค้ากำไรเกินสมควร โจทก์จึงเรียกร้องเป็นจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้โดยชอบแม้โจทก์จะซื้อมาในราคาต่ำกว่ามูลหนี้เดิม แต่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิเต็มจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เต็มจำนวนที่ค้างชำระแก่บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำเลยเป็นหนี้บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) อยู่เท่าใดก็ต้องมีการชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบเพียงนั้นการทำสัญญาซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจของโจทก์หาได้เป็นการค้ากำไรเกินควรไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ค้ำประกันบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง โดยมีการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแก่โจทก์แล้วบางส่วน หากมีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจนสำเร็จ จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ความรับผิดของจำเลยจึงเกิดขึ้นเมื่อการฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ไม่ประสบผลสำเร็จตามแผนเท่านั้น เห็นว่า คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง จำเลยยอมผูกพันตนต่อบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ความรับผิดของจำเลยย่อมเกิดมีขึ้นเมื่อบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ผิดนัดไม่ชำระหนี้บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้แต่เวลานั้น จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเมื่อหนี้ของบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ระงับสิ้นไป ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680, 686 และ 698 การที่บริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาทำให้บริษัทดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของบริษัทดังกล่าวลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยลดลงตามจำนวนที่บริษัทดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น หาทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดไม่และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิใช่สถาบันการเงิน จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เห็นว่า บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) เป็นสถาบันการเงินจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 30 (2) ไม่ตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อโจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) มาตามสัญญาขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทดังกล่าวมีต่อบริษัทอุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และจำเลย แล้วโจทก์ใช้สิทธิของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ