คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 24หรือมีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงานแล้วแต่กรณีระงับการกระทำนั้นได้” บทบัญญัติมาตรานี้มีความมุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีการที่ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายยังคงมีอยู่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อไป จึงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือยุติการกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นเสียสำหรับการกระทำหรือการก่อสร้างที่ทำไปแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 วรรคแรกและมาตรา 43 วรรคแรกได้หรือไม่ หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนและดำเนินการตามมาตรา 42 ต่อไป ถ้าหากเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นให้ถูกต้องและดำเนินการตามมาตรา 43 ต่อไป เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคแรกให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่ก่อสร้างให้ถูกต้องกรณีนี้หามีบทบัญญัติว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิด และกรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวันด้วยนั้น เนื่องจากความผิดฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้กำหนดไว้ในใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้นจะลงโทษปรับรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง ได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้วและผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้จึงจะลงโทษปรับรายวันได้ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติตามแล้วแต่กรณี แต่ตามฟ้องไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใดที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวันจึงเป็นการลงโทษนอกเหนือจากฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 เนื่องจากในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ออกใช้บังคับโดยมาตรา 22 และมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกความในมาตรา 65 วรรคแรกและมาตรา 70กรณีจึงเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด จึงต้องใช้โทษตามมาตรา 70ที่แก้ไขใหม่ประกอบมาตรา 65 วรรคแรก เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ข้อ 1. จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมให้ผิดไปจากแบบแปลนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต และข้อ 2. เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่งที่ กท.9011/3603 ลงวันที่ 8 เมษายน 2529 ให้จำเลยทั้งสองรื้อหลังคาปกคลุมทางเดินหลังอาคารและแก้ไขอาคารโดยให้ก่อผนังคอนกรีตภายในอาคารกั้นแบ่งเนื้อที่เป็นคูหาและก่อสร้างพื้นชั้นลอยระหว่างพื้นชั้นล่างกับพื้นชั้นสองในแต่ละคูหา เพื่อให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง จำเลยทั้งสองได้ทราบคำสั่งแล้วไม่ได้ดำเนินการรื้อ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 43, 47, 65, 70, 71, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40, 42, 43, 47, 65, 69, 70, 71 และ 72 กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโดยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการ ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคแรกประกอบมาตรา 69, 70 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาทให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับเป็นเงิน 80,000 บาทจำเลยทั้งสองร่วมกันฝ่าฝืนคนละ 1 วัน ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสองประกอบมาตรา 69, 70 ปรับเป็นเงินคนละ 10,000 บาท กระทงหนึ่งความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนและแก้ไขอาคารให้ถูกต้องโดยเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการ ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69, 70 ปรับเป็นเงินวันละ 80,000 บาทให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับเป็นเงิน 80,000 บาทจำเลยทั้งสองร่วมกันฝ่าฝืนคนละ 887 วัน ลงโทษตามมาตรา 65 วรรคสองประกอบมาตรา 69, 70 ปรับเป็นเงินวันละ 10,000 บาท จึงปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงินคนละ 8,870,000 บาท อีกกระทงหนึ่งรวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 9,040,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี และปรับเป็นเงิน 9,040,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,026,666.60 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 8 เดือน และปรับเป็นเงิน 6,026,666.60 บาท โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30แต่ไม่เกินสองปี คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 40 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา 21 มาตรา 22มาตรา 24 หรือมีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนมาตรา 31 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงานแล้วแต่กรณีระงับการกระทำนั้นได้” บทบัญญัติมาตรานี้มีความมุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีการที่ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายยังคงมีอยู่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อไป จึงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือยุติการกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นเสีย สำหรับการกระทำหรือการก่อสร้างที่ทำไปแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 วรรคแรก และมาตรา 43 วรรคแรก ได้หรือไม่ หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนและดำเนินการตามมาตรา 42 ต่อไปถ้าหากเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นให้ถูกต้องและดำเนินการตามมาตรา 43 ต่อไปเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคแรก ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่ก่อสร้างให้ถูกต้อง กรณีนี้หามีบทบัญญัติว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2 จึงไม่เป็นความผิด และกรณีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งถอนฎีกาไปแล้วด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวันด้วยนั้น เนื่องจากความผิดฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้กำหนดไว้ในใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น จะลงโทษปรับรายวันตามมาตรา 65 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้วและผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้จึงจะลงโทษปรับรายวันได้ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติตามแล้วแต่กรณี แต่ตามฟ้องไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใดที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับรายวันจึงเป็นการลงโทษนอกเหนือจากฟ้องปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 อนึ่ง สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตโดยก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการตามฟ้องข้อ 1 ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69, 70 นั้น เนื่องจากในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 22 และมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยกเลิกความในมาตรา 65 วรรคแรก และมาตรา 70 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ความในมาตรา 70 เดิมซึ่งบัญญัติว่า ความผิดที่เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆหรือทั้งจำทั้งปรับ ได้ถูกยกเลิก และมาตรา 70 ที่แก้ไขบัญญัติใหม่เป็นว่า ความผิดที่เป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมให้ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นซึ่งความผิดดังกล่าวนี้ มาตรา 65 วรรคแรก เดิม และมาตรา 65 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่บัญญัติไว้แตกต่างกัน โดยมาตรา 65 วรรคแรกเดิมบัญญัติว่า สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทแต่มาตรา 65 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า สำหรับความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจึงเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด จึงต้องใช้โทษตามมาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบมาตรา 65 วรรคแรกเดิม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคแรก เดิม ประกอบมาตรา 69และมาตรา 70 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ให้ปรับคนละ 15,000 บาทเมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามคงปรับคนละ 10,000 บาท หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share