คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7017/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อบิดาผู้เสียหาย เป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปีตามมาตรา 277 วรรคสอง และความผิดฐานพาเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารมาตรา 283 ทวิ วรรคสองจำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมกันจึงเป็นการไม่ชอบกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบด้วย มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดา เพื่อการอนาจาร และจำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่ออนาจาร โดยผู้เสียหายยินยอม กับกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยจนสำเร็จความใคร่จำนวน ๑ ครั้ง โดยผู้เสียหายยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๗๗ วรรคสอง, ๒๘๓ ทวิ, ๓๑๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง, ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๑๒ ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี จำคุก ๑๒ ปี ฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๒ ปี รวมจำคุก ๒๖ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…อนึ่ง ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาโดยปราศจากเหตุอันควรเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อบิดาผู้เสียหาย เป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตามมาตรา ๒๗๗ วรรคสอง และความผิดฐานพาเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา ๙๐ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกรรมกันจึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์และมิได้ฎีกาปัญหานี้ขึ้นมา แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง และมาตรา ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗๗ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๑๐ ปี และความผิดตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม จำคุก ๖ ปี รวมจำคุก ๑๖ ปี ลดโทษให้ กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๘ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖

Share