คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ใช้คำว่า “ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง” ฉะนั้นเมื่อจำเลยมีอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาจำต้องใช้ในการกระทำผิดไม่
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 70 บาทต่อหนึ่งวัน ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 37.50 บาท การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,371, 33, 83, 91 ริบมีดและมีดคัตเตอร์ของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 3 บาท คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, มาตรา 371 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธจำคุก 10 ปีฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 100 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78หนึ่งในสี่คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ปรับ 75 บาท ริบมีดปลายแหลมของกลางส่วนมีดคัตเตอร์ให้คืนแก่เจ้าของ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 3 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว ความผิดตามมาตรา 339วรรคสอง วางโทษจำคุก 5 ปี ความผิดตามมาตรา 371 ปรับ 50 บาทรวมจำคุก 5 ปี และปรับ 50 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 ปี9 เดือน และปรับ 37.50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29,30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาฎีกาข้อ 3 ที่จำเลยว่า การพกพาอาวุธมีดจะเป็นความผิดเมื่อใช้อาวุธมีดในขณะลงมือกระทำความผิดนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ใช้คำว่า “ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง” ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 มีอาวุธมีดติดตัวไปในที่ต่าง ๆ ตามฟ้องก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วหาจำต้องใช้ในการกระทำผิดตามที่จำเลยที่ 1ฎีกาไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 70 บาทต่อหนึ่งวัน ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 37.50 บาท การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นั้น เป็นการไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 แต่ประการเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share