แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีเจตนาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้สายลับไปอันเนื่องมาจากการตกลงเจรจาซื้อขายกันเสร็จสิ้นทั้งจำนวนและราคาแล้ว อีกทั้งคำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 มีความหมายกว้างกว่าการซื้อขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดสำเร็จฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว แม้จะยังมิได้ส่งมอบเงินให้แก่กัน มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘,๑๕,๖๖, ๙๗, ๑๐๒ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๒ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ และ ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การใหม่เป็นรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน) เพิ่มโทษจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ฐานร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน) สองกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่จำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ ๔ มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน ๕,๖๐๐ เม็ด กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับ ผู้ล่อซื้อไปจำนวน ๕,๐๐๐ เม็ด โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาว่า การกระทำของพวกตน ยังไม่ถึงขั้นจำหน่ายอันเป็นความผิดสำเร็จ เพราะว่ายังไม่มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนและเงินให้แก่กันและกันยังไม่มีเจตนาที่จะซื้อขายกัน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ นิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ส่งมอบเมทแอมเฟตามีน ๑ ห่อ จากถุงกระดาษให้สายลับโดยไม่รู้ว่ามีการวางแผนล่อซื้อเพื่อจับกุม กับแม้ว่าเมื่อสายลับต้องการตรวจดูเมทแอมเฟตามีนแล้วส่งคืนให้จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ถูกจับกุมโดยยังไม่มีการส่งมอบเงินค่าซื้อขายเมทแอมเฟตามีนก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายสำเร็จแล้ว เพราะจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีเจตนาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่ก่อนตั้งแต่ขณะตกลงซื้อขายกับสายลับ ทั้งได้ส่งมอบ เมทแอมเฟตามีนให้สายลับไป อันเนื่องมาจากการตกลงเจรจาซื้อขายกันเสร็จสิ้นทั้งจำนวนและราคาแล้ว อีกทั้งคำว่า “จำหน่าย” ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีความหมายกว้างกว่าการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จึงมิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกาแต่ประการใด ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๐๑๒/๒๕๔๓ ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดยโสธร โจทก์ นายวิชิต โพธิ์ทอง จำเลย
พิพากษายืน